อยากไปไกลแค่ไหน
แบบฝึกหัดวันนี้คือ กำหนดพิกัดให้ตัวเอง Set your scope
“เดี๋ยวนะโอม ผมมีอีกหนึ่งคำถาม”
ผู้จัดการหนุ่มหยุดชะงัก หมุนตัวกลับตรงกรอบประตู คิ้วเลิกขึ้นนิด ๆ อย่างสนใจ
“โอมเห็นตัวเองไปไกลแค่ไหนครับ?” ผมถามเรียบ ๆ
คราวนี้เจ้าตัวยิ้มร่า ยกนิ้วขึ้นมาชี้อย่างทีเล่นทีจริง
“อาจารย์อย่ามาทำให้ผมคิด” ปากพูดอย่างนั้น แต่ผมเห็นในสายตาว่าเกิดประกายบางอย่างแตกต่างไป
ผมเขียนเกริ่นไว้ในตอนที่แล้วว่า Leading Out of Thailand ในปีนี้ ตั้งใจจะให้เป็นแบบแนะแนวมากขึ้น สำหรับคนที่อยากจะเริ่มโกอินเตอร์บ้าง
แบบฝึกหัดวันนี้คือ กำหนดพิกัดให้ตัวเอง Set your scope
วิธีง่าย ๆคือลองคิดว่าเห็นตัวเองตรงไหน ถ้าเรามีลูกค้า ฐานลูกค้าเราอยู่ที่ใด จะให้ชัดลองหาแผนที่มาสักแผ่น (ถ้าลำบากมากกับการหาแผนที่กระดาษในยุคดิจิตัล จะพริ้นท์ออกมาจากกูเกิลก็ได้ครับ)
อย่างแรก สังเกตว่าเราพริ้นท์แผนที่ออกมาในระดับใด เรามองตัวเองเป็นพื้นที่ระดับเขต ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ
หากอยากไปให้เกินเส้นพรมแดนไทย ลองวงพื้นที่ทำงานของตัวเองให้เกินเส้นแบ่งประเทศ อยากไปประเทศเพื่อนบ้านแบบพม่า กัมพูชา เวียดนาม หรืออยากไปให้ครบอาเซียน จะไปเอเชีย หรือระดับโลกเลยไหม?
เพราะไม่ว่าเรื่องราวของผู้นำชาติไหน มีอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือพวกเขามองไปไกลกว่าข้อจำกัดตรงหน้า
“I was lucky to have spent a lot of time with American Tourists as their guide.” ผมโชคดีที่ได้ใช้เวลาอยู่กับนักท่องเที่ยวเมื่อสมัยเด็ก แจ็ค หม่า เล่าระหว่างงาน World Economic Forum ที่ Davos
“They taught me things that I couldn’t imagine. I didn’t know such a world existed. I wanted to be a part of it.” ผมได้เรียนรู้ว่ามันมีโลกที่กว้างกว่ากรอบที่เห็นตรงหน้า โลกที่ไม่เหมือนข้อจำกัดรอบตัวผมในตอนนั้น และผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของมัน
เส้นที่ขีดของแจ็คมันกว้างเกินประเทศจีน กว้างเกินประเทศอเมริกา มันเป็นเส้นศูนย์สูตรที่วงรอบโลก
ตัวผมเอง มีโอกาสได้ออกไปเผชิญโลกกว้างตั้งแต่เด็ก อยู่กับฝรั่ง แขก เอเชีย ในทวีปต่าง ๆ ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา มากว่า 16 ปี
สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือ “คนชาติอื่นก็เป็นคนเหมือนเรา มีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งเก่งและไม่เก่ง ไม่มีอะไรต้องกลัว”
เมื่อมีโอกาสออกมาทำงานต่างประเทศ จึงไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไรหนักหนา อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เส้นพื้นที่ของผมถูกวงไว้นอกประเทศตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
งั้นแบบฝึกหัดแรกของผู้นำไทยที่อยากโกอินเตอร์เริ่มตรงนี้ก่อนครับ เอาแผนที่ออกมากาง หยิบปากกาเมจิกสีขึ้นมาสักด้าม
1. วงล้อมรอบเขตที่เป็น “พื้นที่ทำการ” ในใจของคุณ อย่าใช้เหตุผล ใช้ใจในการตัดสิน
2. พิจารณาดูว่าพื้นที่นั้นกว้างใหญ่ระดับใด เรากำลังมองระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ หรือไกลกว่านั้น
3. เสร็จแล้วลองดันพื้นที่นั้นให้กว้างขึ้นอีกนิด เอาปากกาอีกสีหนึ่งมาถือในมือ
4. วงล้อมรอบเขตใหม่ให้ไกลกว่าเดิมอีกหน่อย หากคิดว่าอยากแค่เป็นอันดับหนึ่งในประเทศ ลองวงให้กินอาณาเขตเพื่อนบ้านเพิ่มเติม
5. เสร็จแล้วนำไปติดไว้ในจุดที่มองเห็น ข้างโต๊ะทำงาน หรือข้างฝาที่บ้านก็ได้ เตือนสมองว่านี่คือพื้นที่ ๆเราต้องการไปสู่
เพราะเมื่อสมองถูกกำหนดจุด Priming แล้ว มันจะมองโลกเปลี่ยนไป หากมันเคยมองว่าอยากโตแค่ระดับจังหวัด มันก็จะผูกพันอยู่แค่วังเวียนของสังคมระดับจังหวัด มองปัญหาระดับจังหวัดเท่านั้น
แต่เมื่อมันได้รับการกำหนดพิกัดใหม่ว่า เฮ้ย เรามองระดับอาเซียนนะเว้ย สมองก็จะเปิดรับมิติที่กว้างกว่า หาเพื่อนในวงกว้างกว่า ลองทำกิจกรรมที่อินเตอร์กว่า กระทั่งการอ่านหนังสือ การฝึกภาษา การเรียนรู้วัฒธรรมต่าง ๆ ก็จะกว้างขึ้นโดยปริยาย
ใครมีลูก จะลองทำแบบฝึกหัดนี้ให้กับลูกก็ได้ หากให้คุณวงพื้นที่สำหรับลูก คุณจะวงมันกว้างแค่ไหน
เพราะการเตรียมเค้าให้พร้อมต่อความสำเร็จระดับประเทศ กับความสำเร็จระดับโลก ย่อมไม่เหมือนกัน อย่างแรกอาจหมายถึงการไปโรงเรียนทุกวัน ตั้งใจทำการบ้าน ท่องหนังสือสอบให้ได้คะแนนท็อป
ส่วนอย่างที่สอง อาจหมายถึงการโดดเรียนก็ได้หากมีโอกาสท่องไปในโลกกว้าง ออกไปเที่ยวเพื่อพบปะกับคนที่ไม่เหมือนเพื่อนคนไทยด้วยกันบ้าง เรียนรู้ว่าสังคมรอบตัวมีมากกว่าสิ่งที่เขาเห็นทุกวัน
บทเรียนแรกของการโกอินเตอร์คือ ต้องรู้ก่อนว่าเราอยากไปหรือเปล่า ผมจึงเริ่มด้วยการถามคุณผู้อ่านแบบเดียวกับที่เคยถามโอม
“อยากไปไกลแค่ไหนครับ?”