หัวใจสำคัญของการพัฒนาการเกษตร คืองานวิจัย

หัวใจสำคัญของการพัฒนาการเกษตร คืองานวิจัย

การพัฒนาการเกษตร เป็นเงื่อนไขจำเป็นและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 การเกษตรเป็นแหล่งทรัพยากรอาหาร ยา วัตถุดิบ

สำหรับอุตสาหกรรมนานาชนิด เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่อาจใช้ทดแทนทรัพยากรบางชนิดที่นับวันจะหมดสิ้นไป และสามารถพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ คุณสมบัติที่เหมาะสมและเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษยชาติ การพัฒนาด้านการเกษตรจึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อย่างไรก็ดี การจะพัฒนาการเกษตรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีงานวิจัยที่มีประสิทธิผลและมากเพียงพอในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร

งานวิจัยด้านการเกษตรจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต สร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างสนองความต้องการที่หลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร

ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการลงทุนด้านการวิจัยสูงมากถึง 2-4% ของ GDP ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลงทุนด้านการวิจัยที่ 0.89% และ 1.08% ของ GDP ในขณะที่ประเทศไทยลงทุนด้านการวิจัยค่อนข้างน้อยต่ำกว่า 0.5% ของ GDP ซึ่งในจำนวนนี้จัดสรรสำหรับการวิจัยด้านการเกษตรเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

ในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยเพียง 0.8 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซียที่มีอัตราส่วน 1.97 คนต่อประชากร 1,000 คน ในจำนวนนักวิจัยทั้งหมดของประเทศไทยเป็นนักวิจัยด้านการเกษตรไม่เกิน 8% เพื่อก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาการเกษตรและบุคลากรวิจัยการเกษตร

ประเทศไทยมีหน่วยงานให้ทุนวิจัยและพัฒนาบุคลากรวิจัยอยู่หลายองค์กร องค์กรหลักในการให้ทุนวิจัยและบริหารจัดการโครงการวิจัยด้านการเกษตรที่สำคัญของประเทศ คือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 มี พันธกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร พัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร และพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร สวก. ได้ดำเนินงานตามพันธกิจขององค์กรอย่างเต็มที่มาไม่น้อยกว่า 15 ปี จากเงินกองทุนแรกเริ่มก่อตั้งสำนักงาน

ในระยะแรกเริ่ม สวก. เน้นสนับสนุนทุนโครงการวิจัยการเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยพิจารณาให้ทุนโครงการวิจัยที่เห็นว่ามีศักยภาพที่จะได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ และ สวก. จะมีรายได้จากการขายสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะได้รับผลตอบแทนด้านการเงินซึ่งมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าทุนวิจัยที่ สวก. มีพันธกิจจะต้องสนับสนุนอีกมาก จึงเกิดคำถามว่าการหวังผลตอบแทนจากทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นทุนสนับสนุนการวิจัยต่อไปเป็นวิธีการระดมทุนที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับ สวก. หรือสำหรับประเทศไทยหรือไม่ หรือควรพิจารณาให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยให้มีการนำไปใช้และก่อประโยชน์ต่อสาธารณะหรือต่อประชาชนชาวไทยอย่างกว้างขวางทั่วถึง ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นอีกมาก แทนการได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินจากการขายสิทธิให้เอกชนบางรายเพื่อมาเป็นทุนหมุนเวียนสนับสนุนการวิจัยซึ่งยากที่จะเพียงพอ ที่ผ่านมา สวก. ได้ปรับแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงสาธารณะและนโยบายมากขึ้น

ประเทศไทยยังมีความต้องการงานวิจัยทางการเกษตรที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ พัฒนาเกษตรชีวภาพ เกษตรแม่นยำสูง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และแนวทางการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรในแต่ละเรื่องเพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตร งานวิจัยด้านการเกษตรต้องสามารถตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยด้านการเกษตรที่ดีจะต้องสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมให้กับประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ขจัดปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียมด้านรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

นโยบายด้านการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทยมุ่งแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า บ่อยครั้งที่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะจุดที่ปลายเหตุมากกว่าที่จะมุ่งเน้นแก้ที่ต้นเหตุ เช่น มาตรการแทรกแซงราคาสามารถบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงชั่วขณะ ไม่ทั่วถึง และไม่ก่อเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืน นโยบายด้านการเกษตรที่ดีจะต้องอาศัยการวิจัยเชิงลึกที่ครอบคลุม (Comprehensive) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมกับมีข้อเสนอแนะเครื่องมือความช่วยเหลือเกษตรกรที่เหมาะสม

เมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้มีการพัฒนาระบบงานวิจัยในประเทศของหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัย ที่เรียกว่า เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศซึ่งจะทำให้ระบบงานวิจัยมีเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกันและลดความซ้ำซ้อน ซึ่ง สวก. ได้รับมอบหมายให้บริหารโครงการวิจัยมุ่งเป้าด้านการเกษตรของประเทศในหลายกลุ่มสินค้า รัฐบาลควรพิจารณาอนุมัติทุนวิจัยรายปีให้แก่ คอบช. มากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านการวิจัยการเกษตร

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนนักวิจัยยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมา สวก. ได้พัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร ด้วยการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการเกษตรโดยใช้ทุนจากกองทุนของ สวก. เอง แต่การเรียนระดับปริญญาเอกต้องใช้งบประมาณสูงใช้เวลาเรียนนาน ในขณะที่เงินกองทุน สวก. มีอยู่จำกัดจึงไม่สามารถให้ทุนการศึกษาแก่นักวิจัยด้านการเกษตรได้ครอบคลุมครบถ้วนในสาขาที่ขาดแคลนได้ รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ควรจัดสรรอนุมัติทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทุนระดับปริญญาโท-เอก ในด้านการเกษตรให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือ/ข้อมูลกับ สวก. ถึงจำนวนและสาขาที่ต้องการพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยเหล่านี้ได้ทำงานวิจัยการเกษตรในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมศักยภาพในการทำวิจัยได้ดีที่สุด

โดย... 

วิศาล บุปผเวส

ขนิษฐา ปะกินำหัง