ประกันภัยพิบัติอย่าง‘ปาบึก’
พายุปาบึก เป็นพายุโซนร้อนนอกฤดูที่ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ แล้วพัดขึ้นฝั่งที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
ก่อนจะผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงในระหว่างวันที่ 3-4 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทรัพย์สินและเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุนี้
หลายหน่วยงานได้ออกมาประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในส่วนที่ตนเองมีข้อมูลเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมาได้รายงานว่า พายุปาบึกได้สร้างความเสียหายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นวงกว้างทั้งจังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นความเสียหายจากลมกรรโชกแรง ซึ่งสอดคล้องกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ได้สรุปภาพรวมของความเสียหายเบื้องต้นจากพายุปาบึกไว้ว่ามีผลกระทบใน 8 จังหวัดภาคใต้ มีการอพยพประชาชน 34,089 คน และมีบ้านเรือนเสียหายจากลมพายุจำนวน 1,922 หลัง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่เสียหายมากที่สุดและครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม พบว่ามีความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะสวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้
ในขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาว่า มีความเสียหาย 200 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากจำนวนโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงาน โดยมีโรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 2,000 แห่งใน 4 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ส่วนมาตรการช่วยเหลือโรงงานเหล่านี้ก็คือ การออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเตรียมวงเงินฉุกเฉินจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 30 ล้านเพื่อปล่อยกู้ให้โรงงานรายละ 50,000-200,000 บาท และจะลดดอกเบี้ยจาก 4% ต่อปีมาเป็น 1% ต่อปี เป็นต้น
ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายได้มีการทำประกันภัยไว้ก่อนนั้น คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านประกันภัยในการเยียวยาผู้ทำประกันภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คปภ. มีความเห็นว่า จากข้อมูลความเสียหาย พบว่า มีจำนวนประชาชนทำประกันภัยน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่ง คปภ. จะได้ลงพื้นที่เพื่อแนะนำความรู้เรื่องประกันภัยผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนต่อไป
คำถามสำคัญคือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจจะซื้อประกันภัยพิบัติเพื่อคุ้มครองตนเองจากความเสียหายเหล่านี้ไว้ก่อนตั้งแต่ต้น งานศึกษาวิจัยที่ผมและคณะได้ทำไว้เมื่อไม่นานมานี้ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เรื่อง “การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมในการประกันภัยพิบัติน้ำท่วม”ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบปัญหาเรื่องนี้ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่ามีสาเหตุมาจากลักษณะเฉพาะตัวของความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติเองที่มักจะมีค่าความน่าจะเป็นที่ต่ำ (ซึ่งในเชิงเทคนิคเรียกว่า tail risk) แต่เมื่อใดก็ตามที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ก็จะสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตผู้คนได้อย่างมาก
แต่ในช่วงเวลาที่ไม่เกิดภัยพิบัตินั้น ครัวเรือนมักไม่นิยมป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติด้วยการซื้อประกันภัยพิบัติให้เพียงพอ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ จึงคิดว่าไม่คุ้มที่จะต้องซื้อประกันภัยในขณะนั้น แม้ว่าราคาเบี้ยประกันจะไม่สูงก็ตาม แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นและก่อความเสียหายที่รุนแรงแล้ว ผู้ได้รับความเสียหายจึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีประกันภัยพิบัติแต่ก็สายเสียแล้ว และก็มักจะต้องการซื้อประกันภัยกันเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่เกิดภัยพิบัติแล้ว เช่น ในกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นั้น แต่บริษัทประกันภัยก็ไม่อยากรับประกันภัยพิบัติขนาดใหญ่ในช่วงเวลานั้นแล้ว เพราะไม่สามารถไปทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศได้ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องรับชดเชยความเสียหายจำนวนมากนั่นเอง
จากเหตุผลความล้มเหลวของกลไกตลาดประกันภัยพิบัติดังกล่าว ภาครัฐในหลายๆ ประเทศจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับบริษัทประกันภัยภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศไทยเองนั้น ภาครัฐก็ได้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 แต่ปัจจุบันได้ทำการปิดกองทุนนี้ไปแล้วเพราะเสร็จสิ้นภารกิจเร่งด่วนที่จำเป็นในขณะนั้นแล้ว แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่ในระยะหลังเช่นกรณีพายุปาบึกนี้ ได้ส่งสัญญาณเตือนที่สำคัญให้เราต้องย้อนกลับมาคิดกันอย่างจริงจังว่า ควรจะได้มีการกำหนดแผนงานการพัฒนากองทุนระบบประกันภัยพิบัติของไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืนแล้วหรือยัง