จากอดีตสู่อนาคต…สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากอดีตสู่อนาคต…สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลเป็นความท้าทายที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

 ที่ผ่านมา หลายประเทศประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความไม่สมดุลแล้วยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการกระจายความเจริญ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ประสบความสำเร็จคือ ความเข้มแข็งของชุมชน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปที่บ้านทุ่งหยีเพ็ง บนเกาะลันตา จ.กระบี่ ที่เป็นหนึ่งใน ชุมชน OTOP นวัตวิถี” ซึ่งได้มีการใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตชุมชนแปลงเป็นรายได้ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และทำให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง นับว่าเป็นชุมชนที่มีโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่น่าสนใจ

จากอดีต พื้นที่ทุ่งหยีเพ็ง ป่าชายเลนและป่าบกแห่งนี้ เดิมทีชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งรกรากกว่าร้อยปีก่อนนั้น ยุคนั้นมีการสัมปทานป่าชายเลนเพื่อผลิตเป็นถ่านไม้ คนในชุมชนมีอาชีพรับจ้างตัดไม้เผาถ่านโกงกาง ทำสวนยาง และทำการประมง ต่อมาเมื่อรัฐบาลยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนในปี 2539 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกไปตัดไม้โกงกางมาเผาถ่านเพื่อเป็นรายได้ได้ ในส่วนที่ทำสวนยางก็ประสบกับปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนของราคายาง

การเริ่มมองสู่อนาคตจึงเริ่มจากผู้นำชุมชนได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง เกิดการรวมกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนร่วมกันคิดหาแนวทางในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ผู้นำชุมชนได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงเริ่มต้นจากแนวคิด ใช้สิ่งที่เคยมีในอดีตมาสร้างอนาคตให้ชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา โดยการนำเรือแจวที่ในอดีตทำหน้าที่ขนถ่านไม้โกงกางออกจากป่าและถูกทิ้งให้ผุพังไปตามกาลเวลา มาฟื้นฟูเปลี่ยนหน้าที่ให้เป็นเรือนำนักท่องเที่ยวไปชมป่าโกงกาง ชมพระอาทิตย์ขึ้น แสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น การทอดแห มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวร่วมอนุรักษ์ป่า อาทิ ปลูกโกงกาง ปลูกหญ้าทะเล สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่น่าประทับใจ

สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวมายังเกาะลันตา คือ ธรรมชาติที่สวยงามและวิถีความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนจึงได้สร้างกิจกรรมอื่นๆ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยยังคงรักษาวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการมีโฮมสเตย์ (Homestay) สอนนักท่องเที่ยวทำอาหาร ขายประสบการณ์การเรียนรู้ รวมถึงการทำของที่ระลึกเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย โดยสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญในการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวก็คือ การสร้างมาตรฐานและรักษาคุณภาพในการให้บริการของคนในชุมชน

นอกจากนี้ ในชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ยังมีการรวมกลุ่มของแม่บ้านเกษตรกรที่ครอบครัวมีอาชีพประมงหากุ้งเคยเพื่อมาทำเป็นกะปิ ได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำกะปิจนสามารถผลิตกะปิกุ้งแท้อย่างดี จนกลายเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้กับครอบครัว

แม้จุดเริ่มต้นจะเริ่มด้วยความตั้งใจจริงของคนเพียงไม่กี่ครัวเรือน แต่เมื่อการพัฒนาเริ่มเห็นผล คนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านรายอื่นจึงสนใจมาร่วมพัฒนาชุมชนเพิ่มขึ้น ผู้นำชุมชนจึงร่วมกันกับคนในชุมชนระดมความคิดเพื่อต่อยอดการพัฒนาออกไปภายใต้แนวคิดที่ว่า การมองอนาคตต้องมองให้ครบทุกมิติจึงจะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” และการพัฒนาในด้านต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงกัน ปัจจุบันชุมชนจึงได้ออกแบบสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ป่าชายเลน การทำกะปิ และการสอนทำอาหาร เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความน่าสนใจและประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนชุมชนอื่นให้กับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ภาครัฐก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ มีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน อาทิ กรมป่าไม้ที่ให้คำแนะนำในการอนุรักษ์ป่าชายเลน กรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณและให้คำแนะนำในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

เราอาจพูดไว้ว่าความสำเร็จในการสร้างชุมชนเข้มแข็งของบ้านทุ่งหยีเพ็งเกิดจากความริเริ่มของผู้นำชุมชนและคนในชุมชนคิดร่วมกันในการพัฒนาทั้ง 3 มิติ เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยความสำเร็จเริ่มจากการพัฒนาสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนเปลี่ยนบทบาทจากผู้เผาถ่านไม้มาเป็นผู้อนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนจนเกิดความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์จากความสมบูรณ์ของธรรมชาติ สามารถหากุ้งเคยมาทำเป็นกะปิอย่างดี เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ที่ดี ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และนำมาสู่ความแข็งแข็งของชุมชนและสังคม เพราะคนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง คนไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น นับเป็นแนวทางในการสร้างรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นอีกบทเรียนที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนอื่นต่อไป

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

รานี อิฐรัตน์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation