การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ

การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ

หากมีใครสักคนตั้งคำถามว่า “เราสามารถพกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแก้วพลาสติก ขณะที่เดินไปตามถนนสายหลักในเมืองได้หรือไม่ ?”

คำตอบอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศหรือแต่ละชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ก็เพราะว่าในแต่ละประเทศหรือแต่ละสังคมต่างมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่แตกต่างกันไปอันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างด้านประเพณี วัฒนธรรม หรือศาสนา จึงทำให้มีการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ คอลัมน์นี้จึงอยากนำกฎหมายที่มีชื่อแปลกหูสำหรับคนไทยมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันในบ้านเรา

ในประเทศสหรัฐมีกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายเปิดภาชนะในที่สาธารณะ (Open Container Law)” มีจุดประสงค์เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยป้องกันไม่ให้คนเมาในที่สาธารณะ ป้องกันพฤติกรรมนักเลง ป้องกันอุบัติเหตุจากรถยนต์ รถประจำทางและยานยนต์อื่น ๆ โดยห้ามผู้ขับขี่และผู้โดยสารบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งรวมถึงการมีภาชนะซึ่งบรรจุแอลกอฮอล์ที่ถูกเปิดไว้อยู่ในครอบครองด้วย

ในสหรัฐมีจำนวนทั้งหมด 43 รัฐที่มีกฎหมายเปิดภาชนะในที่สาธารณะและมีเพียง 40 รัฐที่ออกกฎหมายสอดคล้องกับมาตรฐานของรัฐบาลกลางที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ Transportation Equity Act for the 21st Century (TEA-21) มลรัฐที่ไม่มีกฎหมายนี้มีเพียง 7 มลรัฐเท่านั้น กล่าวคือ มิสซูรี อาร์คันซอ มิสซิสซิปปี เวสต์เวอร์จิเนีย เวอร์จิเนีย เดลาแวร์ และคอนเนตทิคัต และมี 3 มลรัฐ คือ อลาสก้า ลุยเซียนา และเทนเนสซี ที่มีกฎหมายเปิดภาชนะแต่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน TEA-21 ของรัฐบาลกลางซึ่งกำหนดเกี่ยวกับกฎหมายเปิดภาชนะในที่สาธารณะและมาตรการความปลอดภัยการจราจรอื่น ๆ กล่าวคือ ผู้ขับขี่อาจได้รับใบสั่งหากผู้ขับขี่มีภาชนะซึ่งบรรจุแอลกอฮอล์ที่เปิดไว้อยู่ในระยะที่สามารถหยิบจับได้หรือผู้โดยสารมีภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ที่เปิดไว้อยู่ในครอบครองแม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้ร่วมดื่มด้วยก็ตาม

ความหมายของ สถานที่สาธารณะ ในบริบทนี้หมายถึงพื้นที่กลางแจ้งเช่นถนน ทางเดิน สวนสาธารณะ หรือในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ แต่ไม่รวมถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบาร์ร้านอาหารหรือสนามกีฬา ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสถานที่สาธารณะแม้ว่าสถานประกอบการเหล่านั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับบริการได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกรัฐหรือทุกเทศบาลจะห้ามมิให้ดื่มและถือแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ ดังในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงบางแห่ง เช่น ลาสเวกัส และนิวออร์ลีนส์ ซึ่งไม่มีกฎหมายเปิดภาชนะ โดยทั่วไปจะยกเว้นให้ที่ถนนและทางเท้า ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นโดยการดื่มที่บาร์ ร้านอาหาร โรงแรม เช่นย่าน French Quarter ในรัฐนิวออร์ลีนส์และ Las Vegas Strip ในรัฐเนวาด้า เป็นต้น

ในส่วนของการมึนเมาจนหมดสติในที่สาธารณะในสหรัฐนั้น กฎหมายมีความแตกต่างกันไปในแต่ละมลรัฐ รัฐโคโลราโด ห้ามมิให้มีการผ่านกฎหมายท้องถิ่นที่ลงโทษการมึนเมาในที่สาธารณะ กล่าวคือ จะไม่มีลงโทษการเมาจนหมดสติในที่สาธารณะทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ได้กำหนดให้มีการสร้างหน่วยลาดตระเวนที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มึนเมาและไร้ความสามารถแทน แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนียการเมาในที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึงการเมาสุรา ยาเสพติด หรือสารประเภทอื่นๆ และแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถดูแลตนเองและผู้อื่นได้ถือว่ามีความผิดและเจ้าหน้าที่สามารถกักตัวผู้นั้นไว้ในสถานที่ปลอดภัยได้จนกว่าเจ้าหน้าที่จะยินยอมให้ออกไป ซึ่งโดยปกติแล้วคือหลังจาก 4 ชั่วโมงนับจากคุมขังเพราะเชื่อว่า ผู้ถูกคุมขังน่าจะมีความสามารถในการดูแลตัวเอง แต่ในกรณีที่บุคคลนั้นมีความเกรี้ยวกราดหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของยาเสพติดพวกเขาจะถูกจับเข้าคุกแทน

ในบางประเทศ เช่น อินเดียและในโลกมุสลิม การดื่มในที่สาธารณะจะถูกกล่าวโทษหรือผิดกฎหมาย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น โปรตุเกส สเปน เยอรมัน สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และจีน การดื่มหรือการมึนเมาในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ อย่างไรก็ดี การมึนเมาในที่สาธารณะและการสร้างความวุ่นวายภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ “drunk and disorderly” ในหลายประเทศก็กำหนดให้เป็นความผิดลหุโทษซึ่งกำหนดโทษไว้แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะต้องมีการแสดงอาการที่ชัดเจนของความไร้ความสามารถหรือพฤติกรรมที่เป็นที่น่ารังเกียจต่อสังคมและก่อกวนความสงบเรียบร้อยของผู้อื่นจึงจะมีการลงโทษได้

ประเทศไทยนั้นแม้จะมีมาตรการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์หลากหลาย เช่น การห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ห้ามขายในวันสำคัญ เช่น วันสำคัญทางศาสนา วันเลือกตั้ง และห้ามขายในช่วงเวลาอื่นนอกจากเวลาที่กำหนดคือ 11.00 ถึง 14.00 น. และ 17.00 ถึง 24.00 น. ห้ามขายในวัด สถานพยาบาล ร้านขายยา สำนักงานสาธารณะ สถาบันการศึกษา สถานีบริการน้ำมัน และสวนสาธารณะ แต่ก็ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะและก่อให้เกิดความรุนแรงให้เห็นกันอยู่ทุกวัน

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะสามารถลงโทษผู้ตั้งวงดื่มบนทางเท้า หรือถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแก้วพลาสติกขณะที่เดินไปตามถนนสายหลักในเมือง หรือเมาสุราจนหมดสติในที่สาธารณะได้ หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการควบคุมการดื่มสุราในที่สาธารณะ เพื่อลดการทะเลาะวิวาทและการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงความเสียหายที่สืบเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการทางกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นก็อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.

โดย... 

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์