ว่าด้วย กองทุนรักษาพยาบาล “คนไทยไร้สิทธิ”

ว่าด้วย กองทุนรักษาพยาบาล “คนไทยไร้สิทธิ”

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการยกย่องและชื่นชมทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินนโยบายผ่านกองทุนต่างๆ

อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ และยังมีกองทุนสุขภาพอื่นๆ ทำให้เกิดความครอบคลุมในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง

 หลังการจัดตั้ง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อ17 ปีที่แล้ว ได้ทำให้คนไทยกว่า 48 ล้านคนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต่อมายังกลายเป็นสิทธิพื้นฐานที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยคนไทยต้องได้รับการดูแลสุขภาพ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำในเรื่องนี้

 จากวันนั้นถึงวันนี้ นโยบายนี้ได้ทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนยากจนหรือกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะจากโรคเรื้อรังที่ต้องหาหมอต่อเนื่องและโรคค่าใช้จ่ายสูงอย่างโรคมะเร็ง หัวใจ ที่ทั้งค่ายาค่ารักษาแพงมากจนกระทั่งในอดีตทำให้เข้าไม่ถึงการรักษา มีความสุขจากการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพครัวเรือน ทำให้จำนวนครอบครัวที่ต้องยากจนจากค่ารักษาลดลงอย่างต่อเนื่อง

 แต่ความสุขจากนโยบายหลักประกันนี้ ยังไม่ถ้วนหน้าคนไทยทุกคน เพราะยังมีคนไทยที่ตกหล่นอยู่ ทั้งเป็นกลุ่มคนไทยที่ยากจนที่สุดในประเทศก็ว่าได้ ทั้งกลุ่มคนเร่ร่อน กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือ เลข 13 หลักที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะ คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนตกสำรวจทางทะเบียนราษฎร์ กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกให้คำจำกัดความว่า “คนไทยไร้สิทธิ์”

 กลุ่มคนเหล่านี้ มีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งหนีออกจากบ้าน หนีทหาร หรือออกบวชมานานไม่ได้ติดต่อกับครอบครัว ทำให้ขาดหลักฐานเพื่อยืนยันความเป็นคนไทย ติด ทร.97 การไม่ได้รับการแจ้งเกิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอายุมาแล้ว เพราะในอดีตการแจ้งเกิดไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ทั้งยังมีความยุ่งยาก ทำให้พ่อแม่ขณะนั้นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แจ้งเกิดลูกตัวเอง ทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ของราชการ รวมถึงกรณีที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แต่คนเหล่านี้เป็นคนไทย พูดภาษาไทยชัดเจน และยังอยู่ในประเทศไทยมาตลอดตั้งแต่เกิด

 ปัญหาสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้คือปัญหาด้านสุขภาพ เพราะด้วยฐานะที่ยากจน ต้องหาเช้ากินค่ำทำให้ขาดการดูแลสุขภาพที่ดี ทั้งไร้สิทธิความเป็นคนไทยทำให้ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ แม้ว่านโยบายหลักประกันนสุขภาพฯ จะดำเนินมา 17 ปีแล้ว แต่กลุ่มคนไทยไร้สิทธิก็ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพ

 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) และเครือข่ายกลุ่มคนไร้บ้าน พบว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับคืนสิทธิและอาจล่าช้า เนื่องจากมีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพและต้องได้รับการดูแลรักษาโดยเร็ว กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิจึงเป็นทางออกหนึ่งในระหว่างรอการพิสูจน์สถานะบุคคลเป็นกองทุนฉุกเฉินเพื่อดูแลให้เข้าถึงการรักษาก่อน

 ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอผ่านเวทีต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่กลุ่มคนไทยไร้สิทธิต้องได้รับการดูแล แต่ด้วยคนกลุ่มนี้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การสำรวจจำนวนที่ชัดเจนจึงทำได้ยาก ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นใน 26 จังหวัด พบประมาณ 700 คน แต่จำนวนที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่านี้ คาดว่าทั่วประเทศมีราวหนึ่งแสนคน

 ปัญหาใหญ่ของการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิที่สำคัญคงเป็นเรื่องงบประมาณ เพราะแน่นอนว่าต้องเป็นการของบประมาณก้อนใหม่จากสำนักงบประมาณ ทั้งไม่สามารถรวมอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จำกัดสิทธิเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น

 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเดินหน้าข้อเสนอนี้คงไม่ง่ายนัก แต่มองในอีกมุมหนึ่งหากไม่มีกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธินี้ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรโรงพยาบาลเองคงปฏิเสธการรักษาไม่ได้ แม้ว่าจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ก็ตาม จึงจำเป็นต้องมีงบประมาณในการสนับสนุนโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ และเพื่อดูแลคนไทยด้วยกันให้มีสิทธิด้านสุขภาพ บรรลุเป้าหมายตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยสมบูรณ์

โดย... 

วรรณา แก้วชาติ 

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)