ข้อพิจารณากฎหมาย การใช้งานยานพาหนะไร้คนขับทางน้ำ
ในปัจจุบันนี้ยานพาหนะไร้คนขับเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภายใต้รูปแบบของอากาศยานไร้คนขับ ยนตรกรรมไร้คนขับทางบก
หรือรถอัตโนมัติ เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศไทยเองได้รับเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ อาทิเช่น โดรนขนส่งพาณิชย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในวงการกฎหมาย
ในขณะที่เรือไร้คนขับซึ่งอาศัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกัน กลับยังไม่ได้รับการตระหนักถึงมากนัก โดยเฉพาะการนำมาใช้งานในกิจกรรมทางทะเลเพื่อทดแทนเครื่องมือแบบเดิม และบทบัญญัติทางกฎหมายที่จำต้องมีขึ้นเพื่อควบคุมการใช้งานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและเปลี่ยนไปตามเวลา แม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูงและสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางทะเล หรือลดการเผชิญเหตุโจรสลัดลงได้
ยานไร้คนขับทางน้ำ (Unmanned Marine Vehicles หรือ UMVs) หมายถึง ยานพาหนะหรือสิ่งขับเคลื่อนที่สามารถปฏิบัติงานทางน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นผิวน้ำหรือใต้น้ำโดยปราศจากคนบังคับอยู่บนตัวยานพาหนะโดยตรง และสามารถทำงานได้โดยการขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ หรืออาจถูกขับเคลื่อนจากการควบคุมระยะไกลก็ได้ โดย UMVs อาจถูกจำแนกออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1.ยานผิวน้ำไร้คนขับ (Unmanned Surface Vehicles : USVs) ซึ่งสามารถถูกใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความปลอดภัยทางทะเล การรบผิวน้ำ การจัดการกับน้ำมันหรือขยะของเสียจากทะเล หรือการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
2.ยานใต้น้ำไร้คนขับ (Unmanned Underwater Vehicles : UUVs) ซึ่งสามารถถูกใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านทุ่นระเบิด การทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ การสำรวจความลึกของน้ำ การทำแผนที่ใต้ทะเลเพื่อประโยชน์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างหลากหลาย หรือด้านการค้นหาซากวัตถุต่างๆ เป็นต้น
ในปัจจุบันได้ริเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มากขึ้น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้เร่งพัฒนาเรือขนส่งสินค้าและเรือเดินสมุทรอัตโนมัติ ในขณะที่ญี่ปุ่นได้ทดลองระบบเรือนำทางไร้คนขับในเส้นทางเดินเรือที่ได้รับความนิยม และสหรัฐได้ต่อยอดการใช้งานเรือรบอัตโนมัติหรืออุปกรณ์ล่าเรือดำน้ำของศัตรูแบบไร้คนขับ
เนื่องจากการปฏิบัติงานของ UMVs นั้นมีได้ทั้งบนพื้นผิวทะเล ตลอดจนถึงน่านน้ำต่างๆ ซึ่งบริเวณดังกล่าวอาจมีเรือลำอื่นที่กำลังเดินทะเลอยู่ด้วย จึงอาจมีความเสี่ยงที่ตัวยานจะชนกับเรือที่สัญจรไปมา และมีความเสียหายเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อเรือ ชีวิตหรือทรัพย์สินก็ตาม
ด้วยเหตุดังกล่าวหาก UMVs ถูกตีความว่าเป็นเรือประเภทหนึ่ง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงหรือการป้องกันไม่ให้เกิดการโดนกันขึ้น
กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ในการป้องกันเรือโดนกัน คือ อนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ.1972 หรือ Convention on the International Regulations for Preventing Collisions at Sea, 1972 (COLREGs) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือการแบ่งแนวเขตจราจรซึ่งจะกำหนดแนวทางในเรื่องอัตราความเร็วของเรือที่ปลอดภัย ความเสี่ยงในการโดนกันของเรือ และการควบคุมเรือที่ปฏิบัติงานอยู่ใกล้หรืออยู่ในแนวเขตจราจร เป็นต้น
สำหรับกฎเกณฑ์ในการป้องกันเรือโดนกันของประเทศไทยนั้น มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงในการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันเรือโดนกัน เช่น เรื่องโคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย หรือการเดินเรือ เป็นต้น
นอกจากนี้ มาตรา 6 และมาตรา 7 ยังได้กำหนดให้กฎกระทรวงที่ออกมาดังกล่าวใช้บังคับแก่เรือไทยและเรือต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทย และเรือไทยที่อยู่ในทะเลหลวง โดยให้ถือว่ากฎกระทรวงนี้เป็นกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งเนื้อหาของกฎกระทรวงนี้จะมีความคล้ายคลึงกับ COLREGs ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น
นอกเหนือจากบทบัญญัติข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายจากเรือโดนกันด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอยู่ในกรอบของความถูกต้องเหมาะสม และช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ก็ยังมีประเด็นข้อบกพร่อง เช่น ในเรื่องของเขตอำนาจศาล เป็นต้น
การนำ COLREGs มาปรับใช้บังคับกับ UMVs ในประเทศไทยนั้นยังคงมีประเด็นปัญหาหลายประการ หากตีความว่า UMVs เป็นเรือชนิดหนึ่งก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยอาจมีการเพิ่มบทบัญญัติที่รองรับการทำงานของ UMVs เช่น การกำหนดนิยามของคำว่าเรือให้รวมถึงยานไร้คนขับบนผิวน้ำ และในกรณีของยานไร้คนขับใต้น้ำก็อาจให้อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ต่อเมื่อยานขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำเท่านั้น หรือในกรณีที่ต้องมีการเฝ้าระวังเรือตลอดเวลา ก็อาจแก้ไขตัวบทกฎหมายจากคำว่า “เรือทุกลำ” เป็น “เรือที่มีคนขับทุกลำ” ที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาเท่าที่สามารถจะกระทำได้ อีกทั้งควรมีการกำหนดให้ชัดเจนถึงบทบาทของผู้ที่ควบคุมตัว UMVs ด้วยว่ามีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดอย่างไร
นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการอนุวัติการกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้งานและควบคุมกำกับดูแลการใช้งาน UMVs มิให้เกิดการโดนกัน ป้องกันอุบัติเหตุทางทะเลอันเกิดจากยาน หรือความผิดทางละเมิดอื่นๆ รวมถึงการควบคุมความปลอดภัยและการปฏิบัติงานของยานบนเส้นทางทะเลต่างๆ
หากยานไร้คนขับทางน้ำถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนรองรับ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือทะเลไม่มากก็น้อย เนื่องจากต้องเผชิญกับยานไร้คนขับทางน้ำที่สามารถแล่นอยู่บนทะเลได้โดยปราศจากกฎระเบียบใดๆ มาควบคุม อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการใช้งานเทคโนโลยีชนิดใหม่นี้ขึ้นได้
โดย...
ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์