มีผู้จัดการแบบใด ก็จะส่งผลกับทีมแบบนั้น!

มีผู้จัดการแบบใด ก็จะส่งผลกับทีมแบบนั้น!

ทุกเช้า อิทธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต จะมาถึงที่ทำงานแต่เช้า ก่อนเวลาเริ่มงานเกือบ2ชั่วโมง ข้อดีคือนอกจากรถจะไม่ติด ยังมีเวลาเตรียมงานสบายๆ

เมื่อทีมงานทยอยมาถึง หลังจากอิทธิวัฒน์ “เดินทักทายทีมงานด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสทุกเช้า” อิทธิวัฒน์ จะเริ่มคุยกับทีมงานบางคน ในหลายๆ รูปแบบ

บางคนที่ทำงานได้ค่อนข้างดีอย่างสม่ำเสมอ อิทธิวัฒน์ จะ Coaching อย่างไม่เป็นทางการ ทักทาย ถามเรื่องทั่วไปและเรื่องงานแบบสบายๆ เมื่อมั่นใจในความคืบหน้าและผลงาน ก็จะชมและขอบคุณทีมงานบางคนที่เจอปัญหายังแก้ไม่ได้ จนจิตตกหรือหงุดหงิดบ้าง อิทธิวัฒน์ จะไม่ไปเพิ่มความกดดัน แต่จะช่วยผ่อนคลาย โดยการชวนออกมาหามุมส่วนตัวคุยเพื่อให้ กำลังใจ ให้คำแนะนำ และกระตุ้น โดยการใช้คำถาม (Coaching By Question) จนกระทั่ง ทีมงานค่อยๆค้นพบทางแก้หรือทางออก จากคำถามที่อิทธิวัฒน์ใช้

ส่วนทีมงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาได้ไม่นาน ที่อิทธิวัฒน์สังเกตเห็นความตั้งใจในการทำงาน แต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญเพราะขาดประสบการณ์ อิทธิวัฒน์จะให้รุ่นพี่ที่ทัศนคติดี มีความสามารถ คอยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยฝึก ช่วยให้คำแนะนำ และอิทธิวัฒน์ จะคอยติดตามผลทั้งการ Coaching พี่เลี้ยงถึงแนวทางการให้คำแนะนำ การฝึกทีมงาน และอิทธิวัฒน์คอยสังเกตุ คอยให้คำแนะนำเพิ่มกับทีมงานใหม่ เพื่อ“สร้างความมั่นใจ” และพัฒนาทักษะให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนฝ่ายสำนักงานของบริษัทอีกแห่งหนึ่ง

ทุกเช้า ศักดิ์ชัย ผู้จัดการฝ่ายสำนักงาน จะมาถึงที่ทำงานในเวลาฉิวเฉียด เพราะจะขับรถออกจากบ้าน “ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน” ทุกเช้า กว่าจะถึงที่จอดรถ ก็หงุดหงิดกับรถติดตลอดทาง

เมื่อมาถึงอาคารสำนักงาน ก็ยังต้องเสียเวลารอลิฟท์ในช่วงเช้าที่คนจากหลายๆ บริษัทต่างก็รอลิฟท์เป็นจำนวนมาก ศักดิ์ชัย จึงไปถึงที่แผนกด้วยความหงุดหงิดแทบทุกเช้า หงุดหงิดจากรถติด หงุดหงิดจากรอลิฟท์และเบียดเสียดจากการแย่งกันกรูเข้าไปในลิฟท์ หงุดหงิดที่ทุกอย่างดูรีบร้อนฉุกละหุกไปหมดทุกเช้า

เมื่อมาถึงโต๊ะทำงาน ศักดิ์ชัยจะนั่งทอดกายหมดแรง สีหน้าเหนื่อยหน่ายผสมกับความหงุดหงิด ลูกน้องไม่มีใครเข้าหน้าติด ใครเข้าหาเป็นคนแรกพร้อมกับปัญหาก็จะเจอ คำพูดด้วยอารมณ์ที่สะสมความหงุดหงิดฉุนเฉียวทุกเช้า ทำให้ลูกน้อง “มักจะหลบหน้า มากกว่าเข้าหา” ถึงแม้จะเจอปัญหาเรื่องงาน เรื่องเล็กทั่วๆไป จนถึงเรื่องใหญ่ ก็ไม่มีใครอยากที่จะเป็นคนรายงานหรือแจ้งปัญหาให้ศักดิ์ชัยรับรู้!

ศักดิ์ชัย จึงเป็นผู้จัดการฝ่าย ที่หงุดหงิดทุกเช้า และยิ่งอารมณ์เสียมากยิ่งขึ้น เมื่อเจอปัญหา “ที่ไม่มีใครที่เป็นลูกน้องบอกให้ทราบแต่เนิ่นๆ” ศักดิ์ชัย ต้องหมดเวลาไปกับการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และมักจะหาสาเหตุไม่ได้ เรียกประชุมทุกคนก็เงียบหรือโบ้ยกันไปมาเพราะไม่มีใครอยากเป็นแพะให้ศักดิ์ชัยระเบิดอารมณ์ใส่

งานของฝ่ายสำนักงานที่บริษัทนี้ จึงเป็นทั้ง “ศูนย์รวมและต้นตอของปัญหาหลายๆเรื่อง” ทั้งที่ความสามารถและประสบการณ์ของศักดิ์ชัย ก็มีพอใช้ได้ แต่ศักดิ์ชัย กลับปล่อยให้ ทุกเช้าเป็นการเริ่มต้นการทำงานด้วยบรรยากาศแย่ๆและส่งผลกับแผนกตลอดทั้งวัน แทบทุกวัน!

ส่วนฝ่ายขายของบริษัทอีกแห่ง....

แทบทุกเช้า จะไม่เคยเห็น วัฒนา ผู้จัดการฝ่ายขายที่โต๊ะทำงาน เพราะกว่าวัฒนาจะเยื้องกรายมาถึงที่ทำงานก็เป็นเวลาสิบโมงกว่า ด้วยข้ออ้างที่บอกกับทุกคนว่า นอนดึกทุกคืนเพราะต้องพาลูกค้าไปเอนเตอร์เทนบ้าง ไปคุยงานกับลูกค้าถึงดึกๆ ดื่นๆ บ้าง!

ทีมขายที่เป็นลูกน้องของ วัฒนา ก็จะซึมซับเรื่องการเข้ามาทำงานแบบ “ไม่เป็นเวลา” นึกจะมาเช้า มาสายหรือมาบ่ายก็ได้ โดยใช้ข้ออ้างเดียวกับคุณวัฒนา ที่เป็นเจ้านาย!

ทีมขายทีมนี้ ก็เลยกลายเป็นทีมขายที่ ไม่มีระเบียบ ปราศจากวินัย แต่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย ที่ทีมขายทีมนี้ยังพอมียอดขายไม่ถึงกับเลวร้าย ผู้บริหารระดับสูงก็เลยยังคงปล่อยให้ทั้งคุณวัตนา กับลูกทีมเป็นไปตามสภาพนี้โดยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรให้ดีกว่าที่ควรจะเป็น เพราะกลัวกระทบยอดขาย!

ทุกวันนี้ ในแต่ละที่ ก็ยังมีผู้จัดการที่บริหารตนเองและบริหารทีมแบบ วัฒนา และ ผู้จัดการแบบ ศักดิ์ชัย โดยที่ “สร้างผลเสีย มากกว่าผลดี” เป็นการบริหารแบบ2หนุ่ม 2 มุม ที่มองยังไงก็ไม่น่าจะมีอนาคตที่ดีไปกว่านี้ทั้งหน่วยงานและองค์กร แต่แนวโน้มจะแย่ลงไปเรื่อยๆ!

ส่วนที่ใด ที่มีผู้จัดการที่บริหารตนเองและบริหารทีมแบบ อิทธิวัฒน์ หน่วยงานนั้น องค์กรนั้น ก็จะมีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะ อิทธิวัฒน์ นอกจากจะบริหารจัดการตนเองได้ดี ยังบริหารทีมและเป็น Coach ที่ดีที่เก่งให้กับทีมงาน ที่หลายๆหน่วยงานหลายๆองค์กร ควรจะเรียนรู้และนำไปปรับใช้

ว่าแต่ว่า หน่วยงานและองค์กรของท่านในทุกวันนี้... เต็มไปด้วย ผู้จัดการแบบ อิทธิวัฒน์ หรือ วัฒนา หรือ ศักดิ์ชัย ล่ะครับ!?