ผู้นำองค์กรกับบทบาท“วาทยกร”

ผู้นำองค์กรกับบทบาท“วาทยกร”

“The great leaders are like the best conductors – they reach beyond the notes to reach the magic in the players” Blaine Lee Pardoe

นี่คือคำเปรียบเทียบ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ว่าคล้ายๆ กับ Conductor หรือ วาทยกร” ที่ดิฉันได้ยินมานานและได้เห็นเป็นประจักษ์พยานในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา วันนั้นดิฉันไปเดินเล่นอยู่บนถนน 7th avenue ในนิวยอร์กและได้ผ่านไปเห็น Carnegie Hall สถานที่แสดงดนตรีชื่อก้องโลกที่ว่ากันว่านักร้องนักดนตรีและวาทยกรเก่งๆ ทั่วโลกต่างใฝ่ฝันจะมีโอกาสได้มาแสดงความสามารถในฮอลล์อันทรงเกียรติแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองและครอบครัว

ดิฉันอยากลองสัมผัสบรรยากาศและเข้าถึงความใฝ่ฝันของคนเหล่านั้นจึงซื้อตั๋วเข้าไปชม Harmonic Convergence Concert โดย Choirs Of America เป็นคอนเสิร์ตของวงนักร้องประสานเสียงที่เป็นเด็กนักเรียน 650 คน เมื่อเข้าไปในฮอลล์ก็เห็นเวทีสีงาช้างอันงามสง่าอยู่ตรงหน้า มีเด็กๆ ยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบ มีเครื่องดนตรีคือเปียโนเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น เบื้องหน้าเด็กๆ เหล่านั้นมีวาทยกรคนหนึ่งยืนเด่นเป็นสง่ารอเวลาให้สัญญาณเริ่มการแสดง

ใน playbill ให้ข้อมูลไว้ว่า Master Conductor หรือวาทยกรของคอนเสิร์ตครั้งนี้ชื่อ Dr. Eugene Rogers มีประวัติบอกไว้ด้วยว่าเขาเป็นวาทยากรให้กับวงนักร้องประสานเสียงของนักเรียนหลายกลุ่มที่มาจากรัฐต่างๆ เป็นวาทยกรที่มีชื่อเสียงในระดับแถวหน้าและยังเป็นอาจารย์สอนในสถาบันต่างๆ มากมายหลายประเทศ ดิฉันรู้สึกสนใจมากว่าเขาทำอย่างไรจึงสามารถกำกับควบคุมให้คนแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายให้แสดงศักยภาพออกมาและทำงานร่วมกันจนเกิดเสียงดนตรีอันไพเราะให้คนชื่นชมได้ การที่คนคนหนึ่งถือไม้บาตอง อันเดียวใช้เพียงแค่การแสดงท่าทางภาษามือ การแสดงออกทางสีหน้า และการส่งสายตาสื่อสารกับคนเป็นร้อยคนให้สามารถร้องเพลงเข้าขากันแบบที่มีจังหวะจะโคนและไพเราะเพราะพริ้งได้นั้นมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก

เมื่อการแสดงเริ่มขึ้นดิฉันก็ยิ่งทึ่งในความสามารถของวาทยกรท่านนี้ เขาสามารถกำกับและควบคุมวงให้เหล่านักร้องเป็นร้อยๆ คนที่มีเสียง สูง กลาง ต่ำ ร้องประสานเสียงกันไปตามโน้ต (note) และจังหวะ (rhythm) ของเพลงที่ไหนจะมีทั้ง ความเร็วช้า (tempo) และความค่อยดัง (dynamics) ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของเพลง เกิดเป็นการสอดประสาน “harmony” ของเสียงที่ขับร้องออกมาเป็นบทเพลงได้ไพเราะราวกับเสียงจากสวรรค์ นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดิฉันประทับใจไม่ลืม

ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตนั้น Dr. Eugene ได้สะบัดไม้บาตองในมือไปมา แสดงท่าทางภาษากายอย่างกระฉับกระเฉง มุ่งมั่น และส่งสายตาสื่อสารกับนักร้องทั่วทั้งวงอยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นและให้จังหวะเมื่อถึงคิวร้องของนักร้องแต่ละคนให้ร้องได้ตามจังหวะและทำนองที่ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน เมื่อนักร้องร้องจบในแต่ละเพลง เขาก็แสดงความชื่นชมนักร้องทุกคนด้วยท่าทาง รอยยิ้มและสายตาที่พวกเขาเข้าใจกัน เมื่อได้รับการชื่นชมจากวาทยกร เด็กๆ เหล่านั้นมีท่าทางที่แสดงถึงความมั่นใจในการร้องเพลงลำดับถัดไป ภายใต้การควบคุมวงของวาทยกร ดิฉันเห็น “alignment” ของการทำงานเป็นทีม นักร้องทุกคนทำงานร่วมกันอย่างตั้งอกตั้งใจ ดูมีความเชื่อมั่น และร้องออกมาได้ไพเราะทุกเพลงโดยไม่มีข้อผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว

การได้เห็น Dr. Eugene แสดงบทบาทผู้นำวงนักร้องประสานเสียงในครั้งนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดเปรียบเทียบผู้นำเหมือนกับวาทยกร ที่ว่า “leader as a conductor” เพราะเขาได้สะท้อนความเป็นผู้นำออกมาด้วยการดึงเอาศักยภาพของนักร้องแต่ละคนให้ร้องออกมาได้อย่างเต็มที่ เขาทำให้นักร้องทุกคนรู้สึกเป็นส่วนสำคัญของการแสดง เขาทำให้เกิด harmony บนเวทีที่มีคนเป็นร้อยๆ จากการแสดงหลายๆชุด และเมื่อการแสดงจบลงผู้ชมทั้งหลายต่างลุกขึ้นปรบมือให้อย่างกึกก้องและยาวนาน เขาโค้งคำนับและผายมือไปทางนักร้องและนักเปียโนเพื่อเชื้อเชิญให้ทุกคนก้าวออกมารับเสียงปรบมือจากผู้ชมเพื่อแชร์ spotlight และให้เครดิตกลับมาที่ทีมงานทุกคน ผู้ชมที่เป็นผู้ปกครองของเด็กๆ บางคนที่ก็ส่งยิ้มให้บุตรหลานด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจในความสำเร็จของลูกหลาน มันช่างเป็นภาพที่น่ารักมาก

เฉกเช่นกับความสำเร็จของงาน จะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันของคนที่มีความเป็น มืออาชีพ ที่มีการวางแผนและเตรียมงานกัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดลำดับความสำคัญของงาน การวางแผนงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากรตามศักยภาพของแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และทำให้งานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้นำในฐานะวาทยกรของวง ก็ต้องฝึกฝนให้มีความสามารถในการเป็นผู้นำวง และจะต้องเข้าใจคนในทีมอย่างลึกซึ้ง ให้คำปรึกษาชี้แนะเขาอย่างใกล้ชิด จึงจะดึงศักยภาพพวกเขาออกมาสร้างประสบการณ์ที่แสนมหัศจรรย์ให้กับผู้ชมได้อย่างที่ Dr. Eugene ทำให้เห็นในวันนั้น

ดิฉันคิดว่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ในองค์กรต้องทำหน้าที่อย่างวาทยกร ในการสร้างความเป็นเลิศของผลงาน ด้วยการพัฒนาทีมงาน ใช้ศักยภาพของพนักงานแต่ละคนเป็น jigsaw ของทีม กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและความสามัคคี สร้างเส้นทางไปสู่การเป็นองค์กรที่เป็นเลิศ เป็นเส้นทางเดียวกันกับทางที่ วาทยกรผู้เป็นเลิศ ทั้งหลายใช้เดินเข้าไปใน Carnegie Hall

โดย... 

พรรณพร คงยิ่งยง

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)