การตรวจรับบ้าน กับการพัฒนาอสังหาฯองค์รวม
ในฐานะสถาปนิกและผู้ศึกษาศาสตร์ฮวงจุ้ย ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากญาติและเพื่อนให้ไปช่วยร่วมเลือกซื้อบ้าน
รวมถึงร่วมตรวจรับมอบบ้านและให้ความเห็นในรายงานจากบริษัทรับตรวจคุณภาพบ้านจำนวนหลายหลัง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการตรวจรับมอบบ้านกลายเป็นกระบวนการมาตรฐานที่ต้องมีในการซื้อบ้านของผู้บริโภคในปัจจุบัน และผู้ประกอบการก็ยอมรับในแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปแล้ว สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ในจำนวนรายการตรวจและข้อแก้ไขของบ้านนับร้อยๆ ข้อนั้น รายการใดสำคัญแค่ไหนอย่างไร? ผู้ตรวจและผู้บริโภคจะต้องทำอะไรต่อไป? ผู้ประกอบการจะเรียนรู้และพัฒนาอะไรจากรายการเหล่านั้นได้บ้าง?
หัวใจสำคัญ 4 ประการ ในการตรวจคุณภาพบ้านที่ผู้บริโภคไม่ควรละเลย ประกอบด้วย (1) ความแข็งแรงของงานโครงสร้างและคุณภาพงานระบบ (2) ความสามารถในการป้องกันแดด-ลม-ฝน (3) ความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ และในการใช้งาน รวมถึง (4) ความสวยงามของวัสดุและอุปกรณ์ ตามลำดับ
จากการวิเคราะห์รายงานการตรวจคุณภาพบ้านและรายการแก้ไขงานที่ปฏิบัติกันในปัจจุบันนั้น พบว่าแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ หัวใจสำคัญข้อ 4 และบางส่วนของข้อ 3 ข้างต้น อันเป็นสิ่งที่มองเห็นและตรวจสอบได้โดยตรง (Visible/Inspectable Items) เช่น ส่วนตกแต่ง งานพื้นผิว งานสี ซึ่งมีปริมาณมากถึง 80-90% ของรายการตรวจทั้งหมด ในขณะที่ส่วนที่ 2 คือ หัวใจสำคัญข้อ 1-3 อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นและไม่สามารถตรวจสอบได้โดยตรง (Less-visible/Indirectly-inspectable Items) เช่น งานโครงสร้างและงานระบบ ซึ่งมีผลสำคัญต่อความแข็งแรงและความปลอดภัย รวมถึงความสามารถในการป้องกันแดด-ลม-ฝน ตลอดจนความสมบูรณ์พร้อมใช้งานของระบบระบายอากาศ ระบายน้ำ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพในการอยู่อาศัยของบ้าน (Living Quality) กลับเป็นส่วนที่ผู้บริโภคยังไม่ทราบรายละเอียดนักและยังให้ความสนใจน้อยกว่าส่วนที่มองเห็นและสัมผัสได้
เนื่องจากบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นสินค้ากึ่งอุตสาหกรรมซึ่งใช้แรงงานในการผลิต หรือ กล่าวได้ว่าเป็นสินค้า Hand-made อีกประเภทหนึ่ง ผู้บริโภคจึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของความคาดหวังถึงความสมบูรณ์ของงานแต่ละชิ้นและองค์ประกอบด้วย และควรเน้นการพิจารณาความแข็งแรง ปลอดภัย และคุณภาพการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ
เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับผู้ให้บริการตรวจคุณภาพบ้านนั้น ควรศึกษาและเน้นการตรวจสอบประเด็นทางโครงสร้างและงานระบบประกอบเพิ่มเติม อีกทั้งควรเพิ่มข้อเสนอแนะหรือข้อแนะนำในการแก้ไขรายการต่างๆ ที่ได้มีความเห็นว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบความเป็นไปได้ในเชิงระยะเวลา ราคา และความรุนแรงของปัญหาในการแก้ไข และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประกอบการแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่ผู้ประกอบการจะช่วยยกระดับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขั้นสูงขึ้นไปได้ คือ การเตรียมและสนับสนุนข้อมูลตลอดกระบวนการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่ความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัย ในการออกแบบ (Green Design) และการก่อสร้าง (Green Construction) รวมถึงการแจ้งความคืบหน้าระหว่างการก่อสร้างให้ผู้บริโภคทราบเป็นระยะหรือทำในรูปแบบฐานข้อมูลให้เข้าถึงได้หลังจากการซื้อเพื่อเป็นการบริหารประสบการณ์ลูกค้าที่ดี รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการซ่อมหลังโอน รวมถึงการตรวจและดูแลสุขภาพบ้านและห้องชุดหลังการขาย ซึ่งจะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์นั้นมีคุณภาพที่ดีและคงมูลค่าไว้ได้