ปิดเทอมกับต้นทุนค่าเสียโอกาสของเยาวชนไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่า กลางเดือนพ.ค. เป็นช่วงเวลาเปิดเทอมของโรงเรียน
พ่อแม่ผู้ปกครองเตรียมพร้อมจ่ายค่าเทอม เด็กนักเรียนเตรียมพร้อมสู่ชั้นเรียนใหม่ หรือโรงเรียนใหม่ เพื่อนใหม่ ๆ
ข้อมูลสถิติจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยของเรานั้นมีเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนกว่า 16 ล้านคน และกว่า 14 ล้านคนหรือเกือบ 90% ของนักเรียนทั้งหมดอยู่ในวัยอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรถมักจะติดเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม
วันเปิดเทอมวันแรกคงจะเป็นวันที่เสียงเจี๊ยวจ๊าวที่สุด เพราะเมื่อเด็ก ๆ เจอกัน หลังจากปิดเทอมเกือบ 3 เดือน เด็ก ๆ แลกเปลี่ยนเรื่องราว ประสบการณ์ ระหว่างปิดภาคเรียน “เป็นไงบ้าง ไปเที่ยวไหนมา ทำไรมาบ้าง” น่าจะเป็นบทสนทนาลำดับต้น ๆของพวกเค้า
แล้วในฐานะของพ่อแม่ผู้ปกครอง เราสามารถทำอย่างไรเพื่อให้เรื่องราวที่ลูกหลานของเราจะไปเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนฝูง ว่าตื่นเต้นเร้าใจแค่ไหนและมีความหมายต่อเวลาเกือบ 3 เดือนที่ปิดเทอมอย่างไรบ้าง
ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีแนวคิดเรื่องของการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มีแนวคิดเกี่ยวกับ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส - Opportunity cost” เพื่อบอกว่า ทุกทางเลือกที่เราตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดการเสียโอกาสที่จะกระทำอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นต้นทุน เช่น ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการทำงานในเช้าวันอาทิตย์ อาจจะเท่ากับการเสียโอกาสนอนตื่นสายหรืออยู่กับครอบครัวคนที่รักเป็นต้น
เมื่อการศึกษาคือการลงทุน เวลาว่างช่วงปิดเทอมจึงถือเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาบุตรหลาน แล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ช่วงเวลาปิดเทอมของลูกหลานสูญเสียไปอย่างไร้ความหมาย?
กิจกรรมช่วงปิดเทอมมีหลากหลายมากมาย ตั้งแต่การเรียนพิเศษ เรียนภาษาต่างประเทศ การเสริมทักษะอื่น ๆ เช่น การเรียนดนตรี ศิลปะ คอมพิวเตอร์ หรือหลักสูตรนวัตกรรมใหม่ที่ทันสมัย เช่น เรียนทำหุ่นยนต์ เรียนสร้างสรรค์ออกแบบเกมเรียนวาดรูปในไอแพด ซึ่งมีให้เลือกมากมายในตลาด ตอบสนองความชอบของเด็ก
นอกเหนือจากการเรียน ยังมีทางเลือกของการทัศนศึกษา เปิดโลกกว้างให้กับบุตรหลาน ยิ่งเดี๋ยวนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศสะดวกและประหยัดมากขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับการพัฒนาลูกหลาน และยังกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย
ขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ทำให้พ่อแม่ลงทุนกับการศึกษาและเวลาว่างของบุตรหลานมากขึ้น
การส่งบุตรหลานไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมกันในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นการไปฝึกฝนทักษะภาษาต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเปิดประสบการณ์ และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ในการเอาตัวรอดและปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมที่แปลกไปด้วยตนเอง
การไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ ซึ่งเดิมทีมักจะเน้นเรื่องของการเรียนภาษา แต่ในปัจจุบันพบว่ามีหลักสูตรมากมายในต่างประเทศที่เน้นพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ของเยาวชน อาทิ หลักสูตรค่ายเตรียมหมอ หลักสูตรค่ายวิทยาศาสตร์ หลักสูตรศิลปะ หลักสูตรกีฬาฟุตบอล ซึ่งล้วนแต่กระตุ้นให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้านทั้งพัฒนาทางความคิด (IQ) และพัฒนาทางอารมณ์ (EQ) และที่สำคัญที่สุดหลักสูตรทางเลือกเหล่านี้ไม่เน้นเชิงวิชาการ ทำให้การเปิดเทอมนั้นมีความสนุกสนานแต่ก็แฝงไว้ด้วยสาระ
ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมไม่ได้จำกัดแต่เพียงเยาวชนที่ได้ร่วมกิจกรรมนั้น แต่ยังรวมถึงเยาวชนส่วนใหญ่อีกหลายล้านคนของประเทศ เพราะการพูดคุยเล่าสู่กันฟังจากเพื่อนสู่เพื่อนถึงสิ่งที่พบเห็นเรียนรู้ระหว่างปิดเทอมนั้น อาจจะจุดประกายให้เยาวชนอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ได้มีโอกาสไปพบเห็นด้วยตัวเอง เกิดความสงสัย เกิดแรงบันดาลใจในการค้นหาสืบค้น และพัฒนาตัวเองต่อไป
เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองว่าปิดเทอมหน้า จะมอบเรื่องราวดี ๆ แก่ลูกหลานจนอยากจะเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนต่อไปอย่างไรดี