บทเรียนที่เราอาจเรียนรู้ได้จากสงครามการค้า

บทเรียนที่เราอาจเรียนรู้ได้จากสงครามการค้า

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐกลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์

 ได้พลิกความคาดหมาย(อีกครั้ง) ของหลายฝ่ายที่เชื่อว่าการเจรจาระหว่างตัวแทนของสหรัฐและจีนจะยุติสงครามการค้าได้ แต่ผลลัพธ์กลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อสหรัฐประกาศปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจาก 10% เป็น 25% เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งก็นำไปสู่การตอบโต้จากจีนด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้าที่นำข้าจากสหรัฐในอัตรา 5-25% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ และตามมาด้วยสหรัฐที่ได้ทำการขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ยและบริษัทในเครืออีกร่วม 70 แห่ง และข่าวเรื่องที่บริษัท Google ระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย ซึ่งการขับเคี่ยวโต้ตอบกันระหว่างสหรัฐและจีนในสงครามการค้ารอบใหม่นี้ ได้ช่วยยืนยันการคาดการณ์ของบทความผู้เขียนที่ลงในคอลัมน์เดียวกันนี้ เมื่อ 2 เดือนก่อน (วันที่ 28 ก.พ. 2562) ความตอนหนึ่งว่า

“…..ยังมีส่วนที่ยากที่สุดที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ซึ่งก็คือประเด็นเรื่องที่สหรัฐกล่าวหาจีนว่า ลักลอบขโมยความลับทางเทคโนโลยีจากบริษัทของสหรัฐที่เข้าไปลงทุน ซึ่งทางจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด และแม้สมมติว่าทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ก็ยังจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่สหรัฐจะมั่นใจในข้อกำหนดบังคับที่จะใช้ได้ในทางปฏิบัติในกรณีที่หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีกในอนาคต

ดังนั้น ทางออกที่จะเป็นไปได้และเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่ายก็คือ ในที่สุดแล้ว อาจจะต้องออกมาในรูปที่สหรัฐยินยอมขายเทคโนโลยีบางอย่างที่จีนต้องการในราคาที่จีนยอมรับได้ หรือในบางกรณีก็อาจเป็นการลงทุนร่วมกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไปก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามในเรื่องการละเมิดข้อตกลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทางออกในลักษณะนี้จะมีความเป็นไปได้จริงนั้น อาจจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขข้อจำกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งเสียก่อน ซึ่งก็อาจรวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกในอนาคตด้วย….”

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า ความขัดแย้งในเชิงยุทธศาสตร์ของสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายนี้ อาจจะต้องกินเวลาต่อไปอีกหลายปี และคงต้องเจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ เนื่องจากจะผลัดกันแพ้ชนะไปจนกว่าที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มตระหนักได้ว่า เกมสงครามการค้าที่ต่อสู้กันอยู่นี้อาจไม่จำเป็นต้องลงเอยในรูปแบบที่ผู้ชนะจะได้ครองผลประโยชน์ที่ได้มาจากสิ่งที่ผู้แพ้ต้องเสียให้(zero-sum game)เสมอไป ถึงจะเริ่มหาทางออกร่วมกันได้ แต่ในขณะนี้สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือว่า ในระยะสั้นนั้น จีนอาจได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวน ซึ่งจีนก็จะต้องชั่งใจระหว่างข้อดีข้อเสียของการปล่อยให้ค่าเงินหยวนปรับตัวลดลง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการส่งออกแต่ต้องเสี่ยงกับปัญหาการไหลออกเงินทุน หรือจะเลือกรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวนโดยยอมใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศและวิธีการควบคุมการไหลออกของเงินทุนมาป้องกันค่าเงินหยวนแทน ส่วนในระยะกลางนั้น ทั้งสองฝ่ายก็อาจจะต้องมีการปรับตัวที่จะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (supply chain) ในปัจจุบัน เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนก็อาจต้องพัฒนาการผลิตในลักษณะที่ต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้นและลดการพึ่งพาผู้ผลิตแบบรับช่วงผลิตให้ลดน้อยลง หรือต้องทำการพัฒนาความรู้ด้านการผลิตหรือระบบปฏิบัติการต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าของสหรัฐอาจจำเป็นต้องมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียแทน เป็นต้น 

การปรับตัวลักษณะดังกล่าวเหล่านี้ ก็ย่อมจะทำให้ประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Efficiency) ของทั้งโลกลดน้อยลงได้ นอกจากนี้แล้ว แม้จะมีการปรับตัวกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ก็อาจจะยังไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถชนะขาดเหนืออีกฝ่ายได้อยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น หลายคนอาจเข้าใจว่า จีนอาจมีอำนาจเหนือสหรัฐในแง่ที่เป็นผู้คุมกำลังการผลิตแร่ธาตุ (rare-earth element) ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าขั้นกลางหรือชิ้นส่วน (Microchip) สำหรับอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลาย แต่ลืมคิดไปว่าสาเหตุสำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีต้นทุนการผลิตในเรื่องนี้ที่สูงกว่าก็เป็นเพราะว่ามีการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าจีนนั่นเอง(หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจีนอาจไม่ได้มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่แท้จริงในทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องนี้ที่สูงกว่าประเทศอื่นอย่างที่เข้าใจกันก็ได้)

 ตอบของคำถามที่ว่า แล้วไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อะไรจากสงครามการค้านี้ ในระยะกลางและยาวนั้นก็น่าจะขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา และหาวิธีป้องกันตนเองจากความเสี่ยงเหล่านั้นให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เราไปผูกตัวเองหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของเรากับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มากเกินไป หรือความเสี่ยงที่เราไปคาดหวังกับการลงทุนจากต่างประเทศที่มากเกินไปจนมองข้ามคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามที่น่าจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของทั้งจีนและสหรัฐมากกว่าไทย เนื่องจากเวียดนามอาจมีความได้เปรียบในการที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (FTA-EU) และข้อตกลงอันใหม่เรื่องหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP (The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และทันต่อสถานการณ์ความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลจึงควรตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของภาคอุดมศึกษาในการทำงานเพื่อศึกษาโจทย์วิจัยพื้นฐานเหล่านี้ให้เชื่อมโยงได้ระหว่างนโยบายกับหลักวิชาการที่ถูกต้อง โดยรัฐให้การสนับสนุนที่เหมาะสมเพียงพอ แทนที่จะจำกัดการสนับสนุนเฉพาะในวงแคบที่เป็นสาขาวิชาการที่คิดว่าจะสามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเอกชน (ที่เราคิดว่าจะแข่งขันได้ในอนาคต ภายใต้ข้อสมมติว่าจะสามารถดึงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้มากพอ) เท่านั้น