ลงทุนในหุ้นตลอดชีวิต
ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้นนั้น ไอน์สไตน์(อีกแระ) บอกว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก”
เพราะเมื่อเงินทองหรือหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ ถ้าเราเอาผลตอบแทนที่ได้ไปทบกับเงินต้นในตอนต้นปี ปีหน้าเงินต้นก็จะเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าผลตอบแทนเท่ากับ 10% ต่อปี เงินต้นของปีต่อไปก็กลายเป็น 110 บาทจากเดิม 100 บาท และถ้าเราได้ผลตอบแทนปีที่สองอีก 10% จากเงินต้น 110 บาท ก็เท่ากับว่าเราได้ผลตอบแทน 11 บาท เมื่อนำมันมาทบกับเงินต้น 110 บาทก็จะกลายเป็นเงินต้นใหม่ 121 บาทในปีที่ 3 และถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลายาวนาน เงินต้นที่เริ่มจาก 100 บาทก็จะกลายเป็นเงินก้อนโตมหาศาล
เช่น ถ้าเราลงทุน 100 บาทและได้ “ผลตอบแทนแบบทบต้น” คือเอาเงินกำไรกลับไปลงทุน ไม่มีการถอนเงินออกเลย เฉลี่ยปีละ 10% ภายใน 7.2 ปี เงินของเราก็โตขึ้นเท่าตัวเป็น 200 บาท ถ้าลงทุน 14.4 ปี เงินก็จะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 400 บาท ลงทุนต่ออีก 7.2 ปีเป็น 21.6 ปีเงินก็จะกลายเป็น 800 บาท และถ้าเราลงต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาประมาณ 50 ปี เงิน 100 บาทก็จะกลายเป็นประมาณ 12,000 บาท หรือเงินเพิ่มขึ้นเป็น 120 เท่า หรือ 12,000% ใน 50 ปี คิดคร่าว ๆ แบบผลตอบแทน “ไม่ทบต้น” ก็อาจจะบอกว่าเฉลี่ยปีละ 240% แต่นี่ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะการลงทุนระยะยาวนั้น เราจะไม่พูดถึงการไม่ทบต้นเลย
บางคนอาจจะนึกว่านี่เป็นเรื่องที่ฝัน ๆ ไป “มีเงิน 1 ล้านบาท ลงทุนไป 50 ปี ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% จะกลายเป็น 120 ล้านบาท เกษียณอายุก็กลายเป็นเศรษฐี” ในชีวิตจริงมันคงไม่เกิดขึ้น ข้อแรกก็คือ คงไม่มีใครลงทุนติดต่อกัน 50 ปี โดยไม่ถอนเงินออกมาใช้เลย ได้ดอกเบี้ยหรือปันผลก็นำกลับไปลงทุนต่อ ข้อสองก็คือ แล้วจะมีการลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นถึงปีละ 10% เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี
คำตอบของผมก็คือ ในอดีตเราอาจจะไม่มีคนแบบนั้นหรือหายากมาก เหตุผลอาจจะเป็นเพราะ 50 ปีที่แล้วคนไทยอายุสั้น ถึง 60 ปีก็อาจจะตายหรือใกล้ตายแล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ คนยังจนอยู่ น้อยคนที่จะมีเงินเก็บมากพอที่จะนำไปลงทุนและไม่ถอนมาใช้เลยเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี แต่ในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตนั้น การลงทุนต่อเนื่อง 50 ปีสำหรับคนที่เริ่มทำงานมีเงินเก็บแล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ว่าที่จริงคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลางระดับสูงที่ไม่ได้หวังพึ่งลูกในยามแก่เฒ่านั้น จำเป็นที่จะต้องลงทุนต่อเนื่องและเพิ่มไปเรื่อยเป็นเวลา 40-50 ปีถ้าหากอยากมีชีวิตที่มีความสุขในบั้นปลาย
ข้อสอง ในเรื่องของการลงทุนเองนั้น เครื่องมือหรือตราสารที่จะให้ผลตอบแทนแบบทบต้นมากและยาวขนาดนั้นในอดีตก็ไม่มี แต่หลังจากการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518 แล้ว การลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นและตราสารอย่างอื่นเช่นกองทุนรวมหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ก็ทำให้เราสามารถได้ผลตอบแทนแบบทบต้นในอัตราที่สูงในระยะยาวได้ ว่าที่จริง ถ้าใครเลือกหุ้นเป็นและเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดและอยู่มาถึงวันนี้ก็สามารถลงทุนเป็นระยะเวลาถึงกว่า 44 ปีเข้าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีน้อยคนที่ทำแบบนั้น เหตุผลคงเป็นเพราะความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุนยังไม่พอ เรายังไม่รู้หรือไม่มีประสบการณ์ว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนอย่างไรไม่ต้องพูดถึงว่าจะเลือกหุ้นตัวไหน แต่ตอนนี้หลังจากตลาดหุ้นอยู่มาถึง 44 ปีแล้ว เราได้เห็นผลตอบแทนของหุ้นในระยะยาวแล้ว เรามีเครื่องมือหรือตราสารการเงินการเงินอย่างอื่น เช่น กองทุนรวมหุ้นที่จะช่วยให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงพอแล้ว ดังนั้น “ความฝัน” จึงสามารถเป็นความจริงได้
ลองมาดูตัวหุ้นว่า 44 ปีที่ผ่านมานั้น เรามีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแบบที่กล่าวหรือไม่ ต่อไปนี้คือหุ้น 5 ตัวที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันแรกจากหุ้นประมาณ 10 ตัว ที่ยังคงอยู่รอดและยังซื้อขายอยู่ในตลาด โดยหุ้นตัวแรกก็คือหุ้น SCC หรือหุ้นปูนซิเมนต์ไทยที่เดี๋ยวนี้ทำกิจการมากมายรวมถึงปิโตรเคมีที่กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ราคาของหุ้นวันเข้าตลาดหลักทรัพย์หลังจากการปรับค่าพาร์แล้วเท่ากับ 1.13 บาท แต่ถ้าใครซื้อไว้แล้วถือมาจนถึงวันนี้คือวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ที่ราคาหุ้นละ 472 บาทก็กำไรไปเท่ากับ 41,670% หรือกำไร 417 เท่าในเวลาประมาณ 44 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเท่ากับ 14.6% ต่อปีไม่รวมปันผล แต่ถ้ารวมปันผลก็น่าจะประมาณ 17% ต่อปี กลายเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่หาได้ยากมาก และถ้าเราลงทุนถือหุ้น SCC 1 ล้านบาทตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาด ถือหุ้นไว้ตลอดเวลา 44 ปี เมื่อได้เงินปันผลก็เอาไปซื้อหุ้น SCC เพิ่ม จนถึงวันนี้ เราก็จะมีเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย
ตัวที่สองก็คือหุ้นเบอร์ลี่ยุคเกอร์บริษัทเก่าแก่ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้จากการเข้าซื้อกิจการห้างบิ้กซี หุ้นBJC ในช่วงเข้าตลาดหลังจากปรับราคาพาร์และอื่น ๆ เท่ากับ 0.17 บาท ในขณะที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 50.5 บาท หรือปรับขึ้น 29,605% หรือ 296 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 13.8% ถ้ารวมปันผลก็เท่ากับผลตอบแทนประมาณ 16% นี่ก็น่าจะถือว่าเป็น ซุปเปอร์สต็อกอีกตัวหนึ่งหากไม่ได้มีการเพิ่มทุนหรือกิจกรรมทางการเงินอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นดั้งเดิมจริง ๆ ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
หุ้นตัวที่สามที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นและผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานรวมถึงภาวะวิกฤตการเงินหลายครั้งก็คือหุ้นธนชาติหรือ TCAP ที่ชื่อเดิมตอนเข้าตลาดน่าจะชื่อลีกวงมิ้งทรัสต์ ราคาหุ้นในช่วงเข้าตลาดหลังปรับค่าพาร์อยู่ที่ 1.12 บาท แต่ราคาล่าสุดคือ 55.5 บาทคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 4,855% หรือ 49 เท่าในเวลา 44 ปี หรือเท่ากับผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 9.2% เมื่อรวมปันผลก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมอีกตัวหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อคำนึ่งถึงระยะเวลาที่ยาวนานมาก
หุ้นตัวที่สี่คือแบงค์กรุงเทพหรือ BBL ซึ่งในอดีตเคยเป็นแบ้งค์ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุด ราคาช่วงเข้าตลาดหลังการปรับพาร์คือ 15.75 บาท แต่ราคาปิดล่าสุดเท่ากับ 200 บาทหรือเป็นการเพิ่มขึ้นเท่ากับ 1,170% หรือประมาณ 11.7 เท่าในเวลา 44 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 5.9% ต่อปี แต่หากรวมปันผลที่ค่อนข้างดีก็น่าจะได้ประมาณ 8.5% เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ใช้ได้เมื่อคำนึงถึงว่านี่คือหุ้นที่เป็น “บลูชิพ” มาเกือบตลอดเวลาที่ซื้อขายในตลาดหุ้น
หุ้นตัวสุดท้ายก็คือหุ้นดุสิตธานีหรือ DTC ซึ่งในวันที่ตลาดหุ้นเปิดนั้นเป็นโรงแรมที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งแทบจะกลายเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพ ราคาหุ้นในวันแรกเมื่อปรับพาร์แล้วเท่ากับ 0.94 บาท ในขณะที่ปัจจุบันเท่ากับ 9.9 บาทหรือโตขึ้น 953% หรือ 10 เท่าในเวลา 44 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 5.5% หากคิดรวมปันผลก็น่าจะประมาณ 7.5% ต่อปี
ในส่วนของราคาหรือผลตอบแทนของหุ้นโดยเฉลี่ยทั้งหมดหรือก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เองนั้น ในเวลา 44 ปี ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาจาก 100 จุดเป็น 1,717 จุด หรือขึ้นมา 1,617 % หรือ 16.17 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นเท่ากับ 6.6% ต่อปี เมื่อรวมปันผลก็น่าจะประมาณ 9% ต่อปี ดังนั้น ถ้าใครลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดยการกระจายการถือครองหุ้นทุกตัวตามน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวซึ่งในอดีตตอนเปิดตลาดทำไม่ได้ง่ายและต่อมาง่ายขึ้นเนื่องจากการเกิดขึ้นของกองทุนรวมอิงดัชนี เขาก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและในระยะยาวมากถึง 44 ปี เงินลงทุน 1 ล้านบาทในวันเปิดตลาดหลักทรัพย์จนถึงวันนี้ก็จะกลายเป็นประมาณ 45 ล้านบาท โดยที่แทบจะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ปรับจำนวนการถือหุ้นในแต่ละปีให้สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นเท่านั้น
ข้อมูลผลตอบแทนทั้งที่เป็นรายตัวและข้อมูลผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นชี้ให้เห็นว่าการลงทุนระยะยาว แทบจะตลอดชีวิตในระดับ 40-50 ปีขึ้นไปโดยที่ไม่ถอนเงินออกมาใช้เลยนั้น จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทางการเงินของเราได้ มันเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเวลา 44 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าอาจจะมีน้อยคนมากที่ทำมันจริง ๆ ในอนาคตต่อจากนี้ การลงมือปฏิบัติอาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีต่อไปนั้นก็ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะในอนาคตนั้น ตลาดหุ้นโดยเฉพาะของไทยนั้นอาจจะไม่เหมือนเดิม บางที การศึกษาว่าตลาดของประเทศไหนน่าจะมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อ 44 ปีที่แล้วอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ความฝันในการลงทุนของเรามีความเป็นจริงได้มากกว่า