วิกฤติหนี้ครัวเรือน
สถานการณ์บ้านเมืองน่าห่วง การเมืองขัดแย้ง วุ่นวาย คลุมเครือ ไร้บรรทัดฐาน และไร้เสถียรภาพ เศรษฐกิจยิ่งหนักหนาสาหัส
สงครามการค้าจีนอเมริกาส่งผลกระทบทั่วโลก ไทยไม่อาจรอดพ้น ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดหาย ที่หนักสุดคือหนี้ภาคครัวเรือนที่เข้าสู่วิกฤติแล้ว
ธนาคารแห่งประเทศไทยรวบรวมข้อมูลหนี้ภาคครัวเรือนอย่างสมบูรณ์ (รวมบ.บัตรเครดิต ลิสซิ่ง สินเชื่อบุคคล ประกันภัยและประกันชีวิต ฯลฯ) ตั้งแต่ปี 2550 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ณ สิ้นปีเป็น 51.7, 52.4, 57.9, 59.3, 66.2, 71.8, 76.6, 79.7, 81.2, 79.6, 78.3 และ 78.6 % ตัวเลขกระโดดขึ้น 3 ช่วง (1) ปี 2552 ที่ 57.9 % เกิดวิกฤติการเงินในอเมริกา (2) ปี 2554 ที่ 66.2 % เกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง (3) ปี 2556 ที่ 76.6 % จากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล จากนั้นก็สูงขึ้นจนพีคสิ้นปี 2558 ที่ 81.2 % ลดลง 2 ปี เพิ่มอีกในปี 2561 ที่ 78.6 % และเพิ่มเป็น 78.7 % เมื่อสิ้นไตรมาส 1 ปี 2562
ดูเผิน ๆ ไม่มีอะไร ทุกอย่างควบคุมได้ แต่ถ้ามองอีกมุม เราจะเห็นภาพที่ต่างไป ยอดหนี้รวมนับจากปี 2550 คือ 4.69, 5.09, 5.59, 6.41, 7.48, 8.87, 9.89, 10.55, 11.15, 11.58, 12.10, 12.83 และสิ้นไตรมาสแรกปี 2562 คือ 12.97 ล้านล้านบาท ยอดหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี หนี้เพิ่มนับจากปี 2551 คือ 0.4, 0.5, 0.82, 1.08, 1.39, 1.02, 0.66, 0.61, 0.43, 0.52, 0.73 ล้านล้านบาท ยอดหนี้โตเร็วมากในปี 2553 – 2556 เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท ถ้านับรวม 12 ปี ยอดหนี้เติบโต 274 %
โครงสร้างหนี้แบ่งตามผู้ปล่อยกู้ได้ 5 กลุ่ม คือ ธนาคารพาณิชย์ 42 % ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 28 % สหกรณ์ออมทรัพย์ 15 % บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง สินเชื่อบุคคล 10 % และอื่น ๆ กลุ่มที่โตเร็วสุดคือกลุ่มบัตรเครดิตฯ จากปี 2550 ที่ 0.45 เป็น 1.24 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2561 โดยปี 2554 – 2556 โตถึง 22, 40, 26 % มันจึงเสี่ยงที่สุดด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลที่มีหนี้เสียสูงถึง 32 % ของหนี้เสียทั้งระบบ
หนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเซียแปซิฟิค รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุน้อย 50 % ของวัยเริ่มทำงานมีหนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต 20 % ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย คนไทยเป็นหนี้นานขึ้น ระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้เข้าวัยเกษียณ คนไทยมีหนี้มากขึ้น จากค่ากลาง 70,000 บาทเมื่อสิ้นปี 2553 เป็น 150,000 เมื่อสิ้นปี 2559 ประมาณ 3 ล้านคนติดอยู่ในวังวนหนี้เสีย ซึ่งต้องถูกทวงหนี้และดำเนินคดีตามกฎหมาย
ยอดหนี้สิ้นปี 2561 เท่ากับ 12.83 ล้านล้าน ถ้าคิดดอกเบี้ยแค่ 8 % ก็เป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านต่อปี นี่คือกำลังซื้อมหาศาลที่หายไป หนี้ครัวเรือนไม่เพียงเป็นปัญหาในตัวเอง แต่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวมด้วย แม้รัฐบาลทุ่มเงินมากมาย การบริโภคภายในก็ไม่ฟื้น สาเหตุคือหนี้ภาคครัวเรือนนี้เอง
ปัญหาหนี้สินมักนำไปสู่วงจรอุบาทว์ เมื่อมีหนี้ เงินใช้จ่ายก็น้อยลง เงินน้อยไม่พอกินอยู่ ต้องกู้เพิ่ม หนี้เพิ่มเงินน้อยลงไปอีก ต้องกู้เพิ่มอีก เป็นวงจรที่เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ หนี้ครัวเรือนเข้าสู่วิกฤติแล้ว ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน จริงอยู่ที่พฤติกรรมบริโภคนิยมทำให้คนเป็นหนี้เร็วขึ้นมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันการเงินก็แข่งกันปล่อยกู้มากขึ้นด้วย มีแต่อุปสงค์ไม่มีอุปทาน หนี้ย่อมเกิดไม่ได้ บ้านคอนโดก็เช่นกัน ราคาที่สูงมากทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นและเป็นหนี้นานขึ้น
ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ แต่มิใช่ด้วยแนวคิดเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ เพราะมันเพิ่มหนี้ให้กับผู้ที่กำลังจมหนี้ ทางรอดคือเพิ่มรายได้ ไม่ใช่เพิ่มหนี้ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง สาเหตุสำคัญคือโครงสร้างการกระจายรายได้ ทุนใหญ่กินทุนเล็ก ธุรกิจ SME และรายย่อยหมดทางสู้ ต้องลดขนาดหรือปิดกิจการ เศรษฐกิจฐานรากจึงอ่อนแอมาก ถ้ารากเฉาตาย ดอกใบจะอยู่ได้อย่างไร ? ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไข คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ปัญหาหนี้สินไม่มีวันหมด มีแต่ยิ่งหนักหนาสาหัส ไม่แปลกใจเลยที่ไทยกลายเป็นประเทศเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก
ในภาพใหญ่ระดับโลก หนี้ครัวเรือนสัมพันธ์กับวัฏจักรพฤหัสเนปจูน 13 ปีที่เริ่มต้นพฤษภาคม 2552 พฤหัสคือเงินทุน เนปจูนคือปลอม บอกถึงการสร้างเงินปลอมมหาศาล (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินปี 2551 อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและฟันด์โฟลว์ไหลเข้า ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตมหาศาล วัฏจักรพีคกันยายน 2558 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีพีคปีนั้นเช่นกัน เมื่อเข้าสู่ขาลง หนี้จะโตลดลงและเตรียมระเบิดออกเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ พร้อม
เมื่อมองดวงเมืองไทย หนี้สินคือภพ 6 (อริ) ภพ 6 คือราศีกันย์ พุธดาวเจ้าราศีอยู่มีน-ภพ 12 (วินาศ) หมายถึงการชดใช้ ชำระสะสาง ฯลฯ ในกันย์มีเนปจูน เนปจูนคือหมกมุ่นลุ่มหลง พุธกุมราหูเล็งเนปจูน ชี้ชัดถึงการเสพติดและจมอยู่กับหนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ พุธ 90 เสาร์ มันสร้างปัญหาใหญ่แก่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนชั้นล่าง
ภาคครัวเรือนคือจันทร์ จันทร์อยู่กรกฎ ธนูคือหนี้ภาคครัวเรือน เมษายน 2552 มฤตยูเข้ามีน ถึงพุธเดิมและเบียนธนู หนี้ก่อตัวอย่างรวดเร็ว เดือนกันยายน เสาร์เข้ากันย์ ตุลาคมมฤตยูถอยกลับกุมภ์ พฤศจิกายนราหูเข้าธนู มันเริ่มโตมาก ปลายมกราคม 2553 มฤตยูเข้ามีนเต็มตัว ต้นพฤษภาคม พฤหัสเข้ามีนซ้ำ ทั้ง 4 เข้ารูป T-square พฤษภาคม 2553 – พฤษภาคม 2554 หนี้ครัวเรือนโตอย่างก้าวกระโดดนับแต่นั้นมา
มีนาคม 2562 ราหูเข้าเมถุน เล็งเสาร์พลูโตในธนู สถานการณ์เข้าสู่วิกฤติ ตั้งแต่ปลายมกราคม 2563 เสาร์เข้ามังกรเล็งจันทร์ ผลร้ายของมันจะเข้าปะทะประชาชนเต็มที่ เมื่อรวมกับมฤตยูเมษในภพ 10 วิกฤติหนี้สินและเศรษฐกิจตกต่ำ จะทำให้ภาคประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง
การเมืองจะเปลี่ยนใหญ่อีกครั้ง