Libra…เงินดิจิทัลปิด Pain Point การส่งออกไทย
ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ระดับโลกที่หลายท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจพลิกโฉมวงการการเงินครั้งใหญ่
นั่นคือการที่ Facebook และบริษัทพันธมิตรเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ภายใต้ชื่อ “Libra” ซึ่งสามารถใช้แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินค้าและบริการได้เสมือนเงินสด ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Calibra ทั้งนี้ Libra มีจุดที่แตกต่างจากเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะ Bitcoin เงินดิจิทัลที่หลายท่านคงรู้จักกันแล้วใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. Libra จะมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลสำคัญของโลกหรือพันธบัตรรัฐบาลมารองรับค่าเงิน (Asset-backed Currency) ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงิน Libra ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ Bitcoin และ 2. Libra จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า Libra Association จัดตั้งโดย Facebook และหน่วยงานพันธมิตร ทำหน้าที่กำกับและดูแลการดำเนินการและเสถียรภาพของ Libra
ขณะนี้แม้ยังไม่มีรายละเอียดของ Libra มากนัก เนื่องจากจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2563 แต่หลังจากผมได้รับฟังแนวคิดของการก่อกำเนิด Libra ผมมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง Libra จะเข้ามาปิด Pain Point และช่วยผู้ประกอบการไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ ผมขอใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษของคำว่า Libra มานำเสนอแนวคิดของผม ดังนี้
Low Cost (ต้นทุนต่ำ) : ที่ผ่านมาการโอนเงินระหว่างประเทศยังมีต้นทุนดำเนินการค่อนข้างสูง โดยข้อมูลจาก World Bank ระบุว่าต้นทุนการโอนเงินเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 6.9% ขณะที่ในกลุ่มประเทศเอเชีย/แปซิฟิกสูงถึง 7.2% ซึ่งต้นทุนที่สูงดังกล่าวกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่การโอนเงินด้วย Libra มีค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับที่ต่ำมากหรืออาจเป็นศูนย์
Independent Action (ทำได้ทุกที่ทุกเวลา) : Libra จะช่วยให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมการเงินได้อย่างอิสระ จากเดิมที่ต้องไปทำธุรกรรมที่ธนาคารที่มีเวลาเปิด/ปิดทำการ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ทำการค้าด้วย Libra จะสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา รองรับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อทั่วโลกได้ทันท่วงที
Broad Market (ตลาดเปิดกว้าง): การส่งออกของไทยไปตลาดหลักส่งสัญญาณชะลอตัวมาหลายปีต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ ประกอบกับความกังวลของสงครามการค้า ทำให้ผู้ส่งออกไทยวางแผนเบนเข็มไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า New Frontiers มากขึ้น เช่น เอเชียใต้ เอเชียกลาง แอฟริกา อย่างไรก็ตาม Pain Point สำคัญประการหนึ่งในการรุกสู่ New Frontiers คือมีระยะทางไกลจากประเทศไทยและไม่รู้ว่าจะเข้าไปนำเสนอการขายผ่านช่องทางไหน เช่น ต้องการขายสินค้าให้ผู้ซื้อในแอฟริกา อาจต้องเดินทางไปงานแสดงสินค้าในแอฟริกา แล้วยังต้องหาธนาคารที่สามารถชำระเงินมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและอาจไม่คุ้มค่าสำหรับผู้ส่งออกกลุ่ม SMEs แต่การมาของ Libra จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเชื่อมโยงการขายกับ Platform ของ Social Media ที่เป็นพันธมิตร รวมถึง Facebook ที่ปัจจุบันมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านคน (ราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก)
Rapid Transaction (ปิดการขายได้เร็ว) : ผมมองว่า Libra จะเข้ามาช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้เร็ว สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ซื้อยุคใหม่ที่ตัดสินใจเร็วจ่ายเงินเร็ว ซึ่ง Libra สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งการเลือกซื้อสินค้าผ่าน Platform ของ Social Media ต่างๆ พร้อมกับการชำระเงินที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วผ่าน Calibra ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะได้รับเงินค่าสินค้าอย่างรวดเร็วเทียบกับปัจจุบันที่อาจต้องใช้เวลา 1-3 วันทำการ
Advanced Security (ปลอดภัยสูง) : ความกังวลด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์เป็นอีกหนึ่ง Pain Point ของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่าผู้ประกอบการโดนหลอกจากอีเมลหรือเว็บไซต์ปลอมต่างๆ ปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขโดย Libra ที่ให้บริการอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูง ทั้งการเข้ารหัสข้อมูลและกระจายการจัดเก็บข้อมูลไว้หลายที่
จะเห็นได้ว่า Libra เข้ามาปิด Pain Point ของผู้ประกอบการไทยในหลายมิติ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจาก Boston Consulting Group ระบุว่าการเปลี่ยนจากธุรกรรมแบบดั้งเดิมมาเป็นธุรกรรมออนไลน์จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3-5% สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ FinTech ในการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นรายละเอียดและเงื่อนไขในการดำเนินการของ Libra จึงยังต้องติดตามกันต่อไป นอกจากนี้ ผมอยากให้ผู้ประกอบการทุกท่านใช้เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งรวมถึง Libra อย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึง สำหรับฉบับต่อไปผมจะยังคงนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Libra และ FinTech แต่จะเป็นประเด็นใด โปรดติดตามครับ