อลาสก้า มลรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา

อลาสก้า มลรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา

ดิฉันไปเยือนมลรัฐอลาสก้าเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เดิมไม่เคยคิดจะไป เพราะกลัวความหนาวจับใจ

แต่เมื่อเคยไปไอซ์แลนด์ในฤดูหนาวเพื่อตามล่าแสงเหนือแล้ว อลาสก้าก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป โดยเฉพาะการไปเยือนในฤดูร้อน ซึ่งอากาศเย็นสบาย ประมาณ 12-19 องศาเซลเซียส

 อลาสก้าเป็นมลรัฐอันดับที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา เข้าสู่การเป็นรัฐในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2502 โดยสหรัฐอเมริกาซื้อมาจากรัสเซีย ในราคา 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีค.ศ. 1867 หรือ พ.ศ. 2410 ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4   นับเป็นมลรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐหนึ่งในสองที่ไม่มีอาณาเขตติดกับรัฐอื่นๆของประเทศสหรัฐ (อีกรัฐหนึ่งคือ ฮาวาย)

 อลาสก้า มาจากภาษารัสเซียว่า Alyaska มีพื้นที่ 1.717 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นพื้นดิน 86.23% และเป็นพื้นน้ำ 13.77% แต่มีประชากรน้อยมาก คือมีรวม 738,432 คนเท่านั้น เทียบเท่ากับความหนาแน่น 0.43 คนต่อตารางกิโลเมตร หรือ มีพื้นที่เฉลี่ย 2.3 ตารางกิโลเมตร ต่อประชากร 1 คน  และยังมีประชากรชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่จำนวนพอสมควร

 ธงประจำรัฐ เป็นธงพื้นหลังสีน้ำเงินเข้ม มีรูปดาวสีทอง 8 ดวง โดย 7 ดวงเรียงกันเป็นดาวหมีใหญ่และอีกดวงหนึ่งที่ใหญ่กว่า คือดาวเหนือ เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโต ว่าสักวันหนึ่งรัฐนี้จะเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่  ผู้ชนะการประกวดออกแบบธงประจำรัฐ เป็นนักเรียนค่ะ ถือว่ามีความคิดสร้างสรรค์มากทีเดียว

 เมืองหลวงของอลาสก้าในปัจจุบัน ชื่อ จูโน (Juneau) ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงโดยทางถนนได้ ต้องไปโดยทางน้ำ หรือทางอากาศเท่านั้น เป็นเมืองสงบ สวยงาม มีโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยอยู่ตรงกันข้ามกันบนถนนสายหลักเลียบทะเล เมืองหลวงเก่าชื่อ ซิทก้า (Sitka) และเมืองที่มีคนมาตั้งรกรากเป็นเมืองแรกชื่อ เค็ทชิคาน  (Ketchikan) บริเวณที่ตั้งของทั้งสามเมืองนี้ รวมกันเรียกว่า “อินไซด์พาสเซจ” (Inside Passage) ซึ่งหากดูแผนที่จะเห็นเป็นส่วนของอลาสก้า ที่เป็นพื้นดินแถบยาวๆติดทะเล  ส่วนด้านลึกเข้าไปเป็นรัฐยูคอนของแคนาดา  กลุ่มคนที่มาบุกเบิกยุคแรกๆเป็นชาวยุโรป บ้านเรือนจึงสร้างแบบน่ารักสไตล์ยุโรป 

 เมืองทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือ เมืองแองคอเรจ (Anchorage) ซึ่งอยู่ประมาณกึ่งกลางของอ่าว ตัวเมืองแองคอเรจ เองไม่ติดทะเลนะคะ แต่อยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่เมืองซีเวอร์ด (Seward) ซึ่งเป็นทั้งท่าขนส่งและท่าลงเรือสำราญ จะคึกคักมากในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม ชื่อ Seward มาจากนามสกุลของรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ วิลเลียม ซีเวอร์ด ผู้ลงนามในสนธิสัญญาซื้อดินแดนที่เป็นรัฐอลาสก้าจากรัสเซียค่ะ

 อลาสก้ามีภูเขาไฟที่ยังเป็น (active)อยู่หลายลูก และมีทะเลสาบประมาณ 3 ล้านทะเลสาบ ทั้งยังมีธารน้ำแข็งที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 75,000 ตารางกิโลเมตรค่ะ ที่ดินส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐ

 ในช่วงปี พ.ศ. 2439 ไปจนถึง 2442 (ค.ศ. 1896 - 1899) ผู้คนหลั่งไหลมายังอลาสก้า และยูคอน เพื่อขุดทอง บริเวณแอ่งของแม่น้ำยูคอน เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ยุคตื่นทองของอลาสก้า” หรือ Alaska Gold Rush หรือ Yukon Gold Rush เมืองซิทก้า ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิม ก็คึกคักมาก มีการสร้างทางรถไฟจากเมือง สแกกเวย์ (Skegway) เพื่อไปบริเวณที่เชื่อว่ามีทองคำอยู่  เรียกว่า White Rail Pass ซึ่งผ่านทั้งเส้นทางที่เรียกว่า Dead Horse Trails ซึ่งมีม้าที่คนใช้ขี่ขึ้นไปหาทอง ต้องตายประมาณ 3,000 ตัว จากความเหนื่อยอ่อนและอดอยาก

 ดิฉันเข้าไปชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่องโกลด์รัชที่ฉายในพิพิธภัณฑ์ของเมืองสแกกเวย์แล้ว จับความได้ว่า เมื่อคนแห่แหนมากันจำนวนมาก ทองที่ขุดได้ คือการให้บริการคนที่มาแสวงโชคขุดทองต่างหาก ผู้ที่ทำธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานบันเทิง บริการซักรีด เป็นกลุ่มที่หาเงินได้จนมีฐานะ ส่วนนักขุดทองนั้น ก็ขุดหาไปเรื่อยๆ ป่วยตาย อดตาย หนาวตายไปก็เยอะ คนที่หาทองได้จริงๆมีจำนวนน้อยมาก การขุดทองบริเวณนี้ยุติไปเพราะมีข่าวว่ามีคนพบทองที่แหล่งใหม่ในเมืองนอม (Nome)

 เศรษฐกิจของรัฐอลาสก้า ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การท่องเที่ยว และการประมง โดยมีการค้นพบน้ำมันในปี ค.ศ. 1968 หรือ พ.ศ. 2511 ปัจจุบัน งบประมาณของรัฐส่วนใหญ่มาจากรายได้ของน้ำมันค่ะ

 อลาสก้ามีแหล่งเพาะปลาซัลมอนอยู่หลายแห่ง โดยอาหารทะเลที่ส่งออกมากที่สุดคือ ปลาซัลมอน ปลาคอต ปลาโพลลอ็ค และปูตัวโต  ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น อลาสก้ามีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละ 1.1 ล้านคนค่ะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากที่สุดในรัฐ

 ไปเดินในเมืองต่างๆแล้ว รู้สึกย้อนยุคกลับไปสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่ดิฉันไปเรียนมัธยมปลาย เนื่องจากอาคารบ้านเรือนจะสร้างไว้ในช่วงก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหม่ๆในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีนแล้ว เสมือนหนึ่งนั่งไทม์แมชชีนเข้าไปในยุค 50 ปีก่อนอย่างไรอย่างนั้น  พอไปสัมผัสแล้วจึงเข้าใจว่า ทำไมชาติตะวันตกจึงเกรงกลัวว่า ชาติตะวันออกจะแซงหน้า เพราะเรายังพัฒนาและก้าวต่อไปด้วยอัตราที่สูง ในขณะที่เขาก้าวช้ามาก และหยุดพัฒนาเมืองไปนาน เนื่องจากไม่มีการเติบโตของประชากร

 อย่างไรก็ดี คุณภาพชีวิตของเขาอยู่ในเกณฑ์ดีนะคะ สโลว์ไลฟ์ มีความสงบ อากาศดี ไม่มีมลภาวะ ไม่ต้องวุ่นวาย แข่งขันมากแบบชาติในแถบตะวันออกของเรา สโลว์แค่ไหนก็ลองนึกดูค่ะว่า ดิฉันลืมของไว้ที่โรงแรมในแองคอเรจ เขียนอีเมล์ไปถามเขา สิบวันแล้วยังไม่ตอบเลยค่ะ