เกิดอะไรขึ้นเมื่อไม่ได้บังคับจำนองภายในอายุความบังคับคดี?
การจำนอง เป็นวิธีการก่อหลักประกันในทรัพย์สินที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย
ซึ่งข้อดีของการจำนองสำหรับเจ้าหนี้ที่เป็นที่รู้กันทั่วไปคือ การจำนอง ทำให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ มีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้
ข้อดีอีกอย่างของการจำนองที่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบคือ การบังคับตามสัญญาจำนองไม่มีอายุความ แม้ว่าหนี้ที่ใช้การจำนองเป็นหลักประกันจะขาดอายุความไปแล้ว เจ้าหนี้ก็ยังสามารถบังคับจำนองได้ แต่จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 193/27 และ 745 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือ ในการจะบังคับจำนองไม่ว่าจะโดยการยึดทรัพย์ หรือการขายทอดตลาด ผู้รับจำนองจะต้องไปฟ้องคดีต่อศาล และจะบังคับจำนองได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำพิพากษาแล้วเท่านั้น
แต่เมื่อได้รับคำพิพากษาแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดว่า เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ไม่เช่นนั้นก็จะเสียสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นไป จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าด้วยผลของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีดังกล่าว ทำให้แท้จริงการบังคับจำนองมีอายุความที่เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปใช่หรือไม่ หรือว่าความเข้าใจที่ว่าการบังคับจำนองไม่มีอายุความจะไม่ถูกต้อง?
ในประเด็นนี้เคยมีคดีที่บริษัท ส เจ้าหนี้ซึ่งรับสิทธิการจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ของนาย จ ลูกหนี้จำนองมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี โดยในเดือน พ.ย.2540 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 เพื่อนำมาชำระหนี้ แต่บริษัท ส ไม่ได้ดำเนินการนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด จนกระทั่งต่อมาบริษัทลีสซิ่ง เจ้าหนี้ไม่มีหลักประกันอีกรายหนึ่งของนาย จ ได้ฟ้องนาย จ เพื่อขอรับชำระหนี้ตามสัญญา จนศาลในคดีหลังมีคำพิพากษาให้นาย จ ชำระหนี้ และเมื่อนาย จ ไม่ชำระหนี้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 เพื่อนำเงินมาชำระหนี้
เมื่อบริษัท ส ทราบเรื่อง จึงได้มาขอกันส่วนเงินที่เป็นหนี้จำนองตามคำพิพากษาปี 2540 ประเด็นพิพาทจึงมีอยู่ว่า บริษัท ส ยังมีสิทธิจะขอกันเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ได้หรือไม่ เมื่อบริษัท ส ไม่ได้บังคับตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา 10 ปี
ในกรณีนี้ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องขอกันส่วนของบริษัท ส เพราะเห็นว่าการบังคับหนี้จำนองตามคำพิพากษาขาดอายุความไปแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 7397/2561 กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่า จริงๆ แล้วศาลฎีกาเห็นด้วยกับการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ ว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อปี 2540 ไม่สามารถทำได้เพราะขาดอายุความ แต่ประเด็นนี้ต้องแยกเรื่องอายุความการบังคับคดีออกจากอายุความการบังคับการจำนอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การบังคับจำนองสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุความ เพียงแต่เจ้าหนี้จะสามารถบังคับดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีไม่ได้
นอกจากนี้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนต่อบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ดังนั้น บริษัท ส จึงสามารถขอร้องกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 เพื่อการชำระหนี้จำนองได้ แต่ทั้งนี้บริษัท ส จะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีไม่ได้
กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าคำพิพากษาบังคับจำนองจะขาดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อสัญญาจำนองยังคงมีผลใช้บังคับได้อยู่ เจ้าหนี้จำนองจึงยังคงมีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามสัญญาจำนอง และยังคงสามารถใช้สิทธิขอกันส่วนจากทรัพย์สินดังกล่าวได้
พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]
โดย...
ภูริตา ธนโชคโสภณ
บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
Purita.Thanachoksopon@allenovery.com