Thailand Focus: Embracing Opportunities The Next Chapter
สวัสดีครับ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาด้านการลงทุนในตลาดทุนไทยที่ใหญ่ที่สุด
สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศหรือที่เรียกกันว่า Thailand Focus ภายใต้หัวข้อ Embracing Opportunities The Next Chapter โดยในงานดังกล่าวนักลงทุนไม่เพียงแต่ได้รับทราบนโยบายของภาครัฐที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและแผนการลงทุนในระยะกลาง-ยาว แต่ยังได้รับข้อมูลตรงจากผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนไทยถึงภาวะและแนวโน้มในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะต่อไปด้วย
ผมจึงขอหยิบยกประเด็นจากมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อเศรฐกิจไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ใน 3 ประเด็น ดังนี้ครับ
ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจไทย นักลงทุนมีความมั่นใจในความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการลงทุนในโครงการของรัฐบาลที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีมุมมองบวกต่อการวางตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อรองรับปัจจัยความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศแต่มีมุมมองว่าผลของมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระดับที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นคือความคืบหน้าและความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนและตั้งฐานการผลิตตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล
ประเด็นด้านความกังวลของนักลงทุน แม้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น แต่ยังคงมีประเด็นด้านต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่อาจนำไปสู่การทำสงครามค่าเงินผ่านการลดค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวน ทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย รวมถึงแนวโน้มการนำเข้าสินค้าไทยของจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คือ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งกระแสความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) เพื่อลดการใช้น้ำมันและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดยานยนต์และความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาจยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับประเด็นสุดท้ายในส่วนของมุมมองนักลงทุนต่อกลุ่มอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นผลจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ เป็นประเด็นคำถามหลักจากนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงิน ในส่วนของการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจถูกมองว่าจะช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว แต่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีมุมมองต่อส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ว่ายังคงอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทจึงเป็นปัจจัยระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเตรียมพร้อมในการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และสถานการณ์ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังคงแข็งแกร่งและมีทางเลือกจากเครื่องมือทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลังที่เพียงพอต่อการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องครับ