QE เวอร์ชั่น ปี 2020
เมื่อสัปดาห์ก่อน มีการจัดวงเสวนาเพื่อถกกันถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน QE แบบใหม่ๆ ที่ลอนดอน
โดยมีการพูดถึงว่านโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ที่ใช้กันมา ด้วยการให้ธนาคารกลางสหรัฐซื้อพันธบัตรของรัฐบาลจากธนาคารพาณิชย์นั้น นับวันจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนอดีต รวมถึงได้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในแง่ของการกระจายรายได้ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์แทนที่จะนำเงินจากธนาคารกลางไปปล่อยกู้ กลับนำไปเก็บเป็นเงินฝากต่อธนาคารกลาง และนำไปลงทุนในตลาดหุ้นเองในบางส่วน เนื่องจากตลาดหุ้นได้รับผลดีจากอัตราดอกเบี้ยในระยะปานกลางที่ลดลง ดังนั้น QE ในรูปแบบที่ส่งเงินถึงมือของประชาชนโดยตรง น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับบิ๊กเนม อย่าง แสตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตรองประธาน เฟด รวมถึงมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ที่เริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดดังกล่าว โดยรายแรก เริ่มเขียนเป็นบทความทางวิชาการแล้ว ส่วนรายหลังเริ่มบอกกับสื่อมวลชนว่าเป็นทางเลือกที่น่านำไปศึกษาเพิ่มเติม
ในความจริงแล้ว แนวคิดดังกล่าวค่อนข้างได้รับการถูกโจมตีในแง่ที่ว่า หลักการเศรษฐศาสตร์มักจะแยกบทบาทของนโยบายการเงินและการคลังออกจากกัน โดยนโยบายการเงินผ่านธนาคารกลางนั้น เน้นบรรลุวัตถุประสงค์ของเสถียรภาพราคาและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนนโยบายการคลังผ่านรัฐบาลนั้น เน้นการกระตุ้นหรือชะลอการจับจ่ายทางเศรษฐกิจของประชาชน อย่างไรก็ดี ด้วยหลักการง่ายๆ ที่เชื่อถือกันมากว่า รัฐบาลไม่ควรก่อหนี้เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชน จึงทำให้การกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังทำได้จำกัด ในขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา QE ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล ทว่าถูกโจมตีว่าเป็นการอุ้มคนรวย เนื่องจากเม็ดเงินไม่ถึงมือประชาชนรากหญ้าอย่างจริงจัง
จึงเกิดมีแนวคิดหลายแนว อาทิ MMT (Modern Macroeconomic Theory) และ QE for People ซึ่งผมขออธิบายเวอร์ชั่นหลัง ที่แบ่ง QE รุ่นใหม่ เป็น 2 ประเภท ดังนี้
โดย QE ใหม่ประเภทที่หนึ่ง คือให้เงินต่อประชาชนโดยตรง ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ
1.การใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยเงินลงมา ซึ่งง่ายๆ คือ มาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ของบ้านเราในตอนนี้ ด้วยการโอนเงินให้กับประชาชนผ่านบัญชีเงินฝาก ซึ่งปัญหาในตอนนี้ ของบ้านเรา คือด้วยขั้นตอนการรับสิทธิที่ไม่ได้ง่ายมากๆจนประชาชนที่เป็นรากหญ้าจริงๆสามารถเข้าใจได้กันหมด อาทิ ต้องมีการ scan ใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตน จึงทำให้วิธีนี้มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติบางส่วนเช่นกัน
2.การสนับสนุนทางการเงินของการขาดดุลงบประมาณรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยการที่รัฐบาลจะก่อหนี้ผ่านธนาคารกลาง หรือการออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนการขาดดุลดังกล่าว
3.การยกภาระหนี้ให้กับประชาชน โดยข้อเสียของวิธีนี้คือเป็นภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี อย่างไรก็ดี หากมั่นใจว่าการยกหนี้ต่อประชาชนเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ในทางการเมือง ยกตัวอย่าง ที่อลิซาเบธ วอร์เรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ได้หาเสียงด้วยการเสนอให้มีการยกหนี้ให้กับชาวสหรัฐที่กู้เงินมาเรียนหนังสือ หรือหนี้เพื่อการศึกษานั่นเอง
ด้าน QE ใหม่ประเภทที่สอง คือ การปรับสมดุลของเศรษฐกิจ มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ
1.การปล่อยกู้โดยตรงจากรัฐบาลผ่าน QE ธนาคารกลางในโครงการที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยภาระหนี้ของภาครัฐในส่วนนี้ มีการเสนอกันว่า จะไม่นับเป็นหนี้ของรัฐบาลแบบ On Balance Sheet เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นเหมือนการลงทุนสินค้าทุนหรือ Capex ของภาคเอกชน
2.การปล่อยกู้จากรัฐบาลผ่านธนาคารเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะเป็น SME เกษตรกร หรือเพื่อการค้าต่างประเทศ
- การปล่อยกู้จากรัฐบาลให้กับเอกชนโดยตรงการปล่อยกู้ในลักษณะนี้ ธนาคารกลางอังกฤษเคยทำผ่านการปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ต่อประชาชนและปล่อยกู้ให้กับ SME มาแล้ว
ทั้งนี้ แสตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตรองประธานเฟด ได้แนะนำวิธีหรือหนทางที่ประเทศหลักต่างๆ จะสามารถใช้ช่องทางกฏหมาย ณ ปัจจุบัน ในการทำ QE ตามรูปแบบใหม่ดังกล่าว ดังนี้
โดยในสหรัฐนั้น แม้ว่าเฟดจะสามารถมีอิสระในการซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐ ทว่าด้วยข้อจำกัดเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่กฎหมายของสหรัฐบังคับให้รัฐบาลสหรัฐต้องทำตาม นั่นเป็นหนทางจำกัดการปล่อยกู้ของเฟดต่อรัฐบาลสหรัฐในช่วงวิกฤตซึ่งมีมาแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้เกิดกฎหมาย Treasury Accord ปี 1951 จำกัดการที่รัฐบาลสหรัฐจะก่อหนี้โดยให้เฟดช่วยพิมพ์เงินให้ อย่างไรก็ดี หนทางที่พอจะทำได้จากคำแนะนำของเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด เมื่อปี 2006 สภาคองเกรสสามารถสร้างบัญชีพิเศษไว้ที่เฟด และใช้อำนาจทางกฎหมายสั่งให้คณะกรรมการเฟดใส่เงินเข้าไปในบัญชีดังกล่าวที่ระดับที่กำหนดไว้ก่อนหน้า
สำหรับยุโรป อย่างที่ทราบกันว่า ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) สามารถซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ภายใต้โครงการ Asset Purchase หรือ QE ได้เพียงไม่เกิน 33% ของมูลค่าพันธบัตรที่ออกมาทั้งหมด อย่างไรก็ดี มาริโอ ดรากิ ประธานอีซีบี ได้ทำการปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ Targeted Long-term Refinancing Operation (TLTRO) สำหรับแบงก์พาณิชย์ นอกจากนี้ ยังสามารถปล่อยกู้ทาง European Investment Bank ให้กับหน่วยงานต่างๆ
หันมาดูที่ญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นถูกห้ามมิให้ทำการหาแหล่งเงินในตลาดแรก รวมถึงถูกห้ามมิให้ทำการแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่นสามารถทำ QE ตามสัดส่วนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกพันธบัตรเพิ่มเติมออกมา
ท้ายสุด ที่อังกฤษ ตามกฎหมายที่อังกฤษลงนามในสนธิสัญญา EU Treaties ระบุว่าธนาคารกลางอังกฤษต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงการคลังในการดำเนินนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี ในกรณีจำเป็น ธนาคารกลางอังกฤษก็สามารถกู้เงินต่อรัฐบาลในยามจำเป็นหากขาดเงินสดในยามวิกฤต โดยธนาคารกลางอังกฤษจะสามารถยืดหนี้ด้วยระยะเวลาการกู้เป็นหนี้ระยะยาว
ต่อจากนี้ น่าสนใจว่าจะมีการใช้ QE แบบใหม่ๆ ครั้งต่อไป ในลักษณะใดกันบ้าง และจะใช้เป็นแห่งแรกที่ธนาคารกลางใด โดยผมมองว่าธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษมีโอกาสสูงกว่าเพื่อนครับ