บทเรียนสำหรับ Startup จาก WeWork
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาบริษัทที่มีข่าวลงสื่อยักษ์ใหญ่ทางด้านธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนีไม่พ้นWeWork ซึ่งล้วนแต่เป็นข่าวที่น่าปวดหัวมากกว่ายินดี
อีกมุมหนึ่งแล้ว WeWorkก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเรียนรู้ โดยเฉพาะกับStartupทั้งหลาย
ธุรกิจหลักของWeWork คือการปล่อยเช่าพื้นที่สำนักงาน สำหรับบรรดา Startup และ Entrepreneur โดย WeWork ไปเช่าพื้นที่จากบรรดาตึกต่างๆ จากนั้นมาตกแต่งให้สวยงาม ทันสมัย มีพื้นที่ส่วนกลางเยอะ จากนั้นปล่อยเช่าทั้งในรูปแบบของเช่าพื้นที่และ Shared Space
WeWork ก่อตั้งโดย Adam Neumann ในปี 2008 และเติบโตเรื่อยมาจนล่าสุดได้รับการประเมินมูลค่าอยู่ที่ $47,000 ล้าน และมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเร็วๆ นี้
Adam ถือเป็นเจ้าของธุรกิจที่นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่โดดเด่น สามารถโน้มน้าว ชักจูง ผู้อื่นให้คล้อยตามได้ และเป้าหมายสูงสุดของเขาไม่ใช่แค่การทำเงินหรือให้เช่าพื้นที่สำนักงาน แต่ต้องการที่จะเปลี่ยนโลกนี้ และเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เคยทำกันมาแต่ช้านาน (Reinvent the workplace)
WeWork มีพนักงานทั้งหมด 12,500 ทั่วโลก (และประเทศไทย) เมื่อต้นปีก็มีการรีแบรนด์ตนเองใหม่เป็น The We Company อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะด้านเงินทุนจาก SoftBank ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น บริษัทรับความสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิดจากนักลงทุนในการ IPO ในครั้งนี้
แต่แล้วเมื่อ WeWork ยื่นไฟลลิ่งกับทางสำนักงาน กลต ของสหรัฐ ที่เรียกว่า S-1 กลับทำให้ชะตาของ WeWork และ Adam พลิกผันกันเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องเมื่อยื่น S-1 แล้ว ทั้งนักข่าว นักลงทุน และนักวิเคราะห์ ต่างพากันวิเคราะห์เจาะลึกต่อการดำเนินงานของ WeWork และทำให้พบข้อที่น่ากังวลและน่ากังขาในด้านของความโปร่งใส ธรรมาภิบาล รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลายประการ
มีการพบความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่าง WeWork และ Adam ที่เป็นเจ้าของบริษัทหลายประการ เช่น Adam เป็นเจ้าของพื้นที่อสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แห่งที่ WeWork ได้เข้าไปเช่า อีกทั้ง Adam ยังได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก WeWork เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหรา นอกจากนี้ Adam ยังเป็นคนซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์ “We” ผ่านทางบริษัทที่เขาถือหุ้น และบริษัทดังกล่าวก็ได้ License ลิขสิทธิ์แบรนด์ “We” ให้กับ WeWork เป็นจำนวนเงิน $5.9 ล้าน นอกจากนี้เมื่อดูรายการที่เกี่ยวโยงกันก็พบว่าหลายๆ ธุรกิจที่ WeWork ทำส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มากกว่า 100 คนของ WeWork ได้รับผลประโยชน์
สำหรับความสามารถในการหากำไรนั้นก็พบว่า WeWork ขาดทุนอยู่ที่ $1,900 ล้าน ขณะที่มีรายได้ $1,800 ล้าน แสดงว่าทุกๆ $1 ที่หาได้ เป็นค่าใช้จ่ายเสีย $2 หรือในปี 2019 นั้นครึ่งปีแรกบริษัทขาดทุนอยู่ที่ $904 ล้าน ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่ $1,540 ล้าน นอกจากนี้ยังมีการสร้างตัวชี้วัดของตัวเองขึ้นมา ที่ทำให้คนภายนอกยากที่จะเข้าใจได้ว่าหมายความอย่างไรและมีที่มาอย่างไร
ปัญหาข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาอีกหลายๆ ประการที่พบเมื่อ WeWork ยื่นไฟลลิ่ง แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล เริ่มตั้งแต่ Adam ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง CEO และมอบสิทธิ์ในการควบคุมการออกเสียงของตนเอง นอกจากนี้ยังตัดสินใจที่จะเลื่อนการ IPO ของตนเองออกไป ยังไม่นับมูลค่าของบริษัทจากที่เคยอยู่ที่ $47,000 ล้าน จะต้องถูกประเมินใหม่และคาดกันว่าไม่น่าจะถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าเดิม ล่าสุดบริษัทตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการยื่น IPO รวมทั้งมีข่าวว่าจะปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 2,000 คนในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุน
กรณีศึกษาของ WeWork สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะพบได้ใน Startup หรือองค์กรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีเจ้าของที่มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานสูง แต่สุดท้ายไปพลาดท่าที่ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส่ในการบริหาร