“ซีเอสอาร์” กับ “ปรัชญาศก.พอเพียง” และ“การจัดการที่ยั่งยืน”

“ซีเอสอาร์” กับ “ปรัชญาศก.พอเพียง” และ“การจัดการที่ยั่งยืน”

สวัสดีค่ะ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ต.ค. 2562 ดิฉันขอร่วมน้อมสำนึก

ในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ด้วยการน้อมนำเอาแนวคิดของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มากล่าวถึงในฉบับนี้ค่ะด้วยการน้อมนำเอาแนวคิดของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มากล่าวถึงในฉบับนี้ค่ะ

จากหนังสือ “แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRi) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ไว้ว่า การประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยความพอเพียง ควรนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบการปฏิบัติล้อมอีกชั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้การปฏิบัติมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยการปฏิบัตินี้จะตั้งอยู่บนความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกกิจการ โดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นหลักค้ำจุน อันจะเป็นผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในที่สุด ในการปฏิบัติตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หากผู้บริหารนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวทาง หรือเครื่องมือในการกำกับการปฏิบัติแล้วจะทำให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อกิจการ ชุมชน สังคม การฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงสุด

การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นไปในลักษณะดังนี้

ความพอประมาณ นั่นคือ ความไม่โลภจนเกินขอบเขต ดำเนินกิจการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นตอน ไม่รีบร้อนโดยหวังให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ไม่ประมาท คำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นที่เหมาะสม โดยผลกำไรที่ได้ไม่เกิดจากการเบียดเบียนสังคมรวมทั้งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไม่ฟุ่มเฟือย

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป โดยเฉพาะการดูแลลูกจ้าง พนักงาน ลูกค้า ผู้บริโภค ตลอดจนให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนใกล้เคียงหรือ สังคมรอบข้าง

ความมีเหตุมีผล กิจการควรปฏิบัติตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความสมัครใจ และเข้าใจถึงผลลัพธ์ในทางบวกที่จะได้รับกลับมาอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เพราะการเรียกร้องจากสังคม โดยวางแผนดำเนินงานไปพร้อมกับการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และมีเหตุมีผล

พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียควรมีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่การวางแผนจนถึงการปฏิบัติในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดพันธสัญญาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักความมีเหตุผลที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท นอกจากนี้ การบริหารจัดการควรเป็นไปอย่างเป็นระบบ มีการควบคุมดูแลให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปอย่างสมเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีของกิจการ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง สมดุล และยั่งยืนให้ทั้งกิจการเองชุมชน และสังคมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้เกิดประโยชน์และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระยะยาวได้เช่นการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้

การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียังครอบคลุมการให้ความเท่าเทียมเป็นธรรมรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้บริโภค พนักงาน รวมทั้งการผลิตและการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสร้างนวัตกรรมเพื่อมูลค่าเพิ่ม การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า มีประสิทธิภาพ และประหยัด

ความรู้กิจการควรใช้แสวงหาและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมกับการปฏิบัติตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและการดำเนินกิจการที่ถูกต้อง มีคุณธรรมและคุ้มค่าไม่สิ้นเปลือง เช่น นำหลักวิชาการ ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ค้นพบมาวิเคราะห์สภาพเป็นจริงของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ พื้นที่ สังคมและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตามแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน ชุมชน และสังคม ที่สำคัญกิจการต้องค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่แก้ไขความผิดพลาดในอดีตและดีกว่าเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพผ่านกระบวนการเรียนรู้

คุณธรรมคุณธรรมสำหรับกิจการไม่ใช่คุณธรรมต่อลูกค้าและคู่ค้าเท่านั้น แต่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด จึงควรส่งเสริมพนักงานและสังคมที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้พัฒนาคุณธรรมเพื่อเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ส่งเสริมให้ยึดมั่นความสงบสุขสันติยุติการเบียดเบียน เอาเปรียบ ทำงานด้วยความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต อดทน ประนีประนอม และปลูกจิตสำนึกความมีเมตตา มีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม เห็นความสำคัญของการบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น พร้อมให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน แบ่งปันแก่ผู้ด้อยโอกาสกว่าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลปรองดอง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่โลภ ไม่คดโกงทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างรู้รักสามัคคีและมีความสุข

กิจการที่ประสงค์จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ควรผสานกลยุทธ์กิจการกับความรับผิดชอบต่อสังคมและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น แม้การบริหารยุคใหม่แม้จะมีเป้าหมายหลักที่การสร้างผลกำไรโดยนำหลักการบริหารต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพ แต่กิจการก็ยังไม่สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ ถ้าไม่มีความโปร่งใสหรือขาดหลักธรรมาภิบาลที่มุ่งให้การบริหารและการดำเนินงานเป็นไปอย่างยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ดังนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นร่มใหญ่ที่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมด ให้มีการเกื้อหนุนค้ำ จุนในทุกๆ องค์ประกอบของการดำเนินกิจการอย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน อันจะนำ ไปสู่การสร้างผลกำไรที่ดีที่สุด 

โดยผลกำไรนอกจากเป็นตัวเงินแล้ว ยังได้มาในรูปของประโยชน์สุขของผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน สุดท้ายจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศชาติ