พฤติกรรมผู้บริโภคจีนยุคใหม่ กับ "ตลาดออนไลน์"

พฤติกรรมผู้บริโภคจีนยุคใหม่ กับ "ตลาดออนไลน์"

อีคอมเมิร์ซจีนทำให้รูปแบบการชำระเงินและธุรกรรมขึ้นไปอยู่บนมือถือเป็นหลัก

157122578956 การทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนยุคใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเป็นผลมาจากทั้งเทคโนโลยี ความสะดวกสบาย ฐานะทางการเงิน รสนิยม ความรู้ มาดูกันว่าอะไรบ้างที่เป็นข้อสังเกตและควรระวังสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสในการบุกอีคอมเมิร์ซจีน

คนจีนฉลาดในการหาข้อมูลบนออนไลน์ เนื่องจากในเวลานี้ คนจีนจะนิยมหาข้อมูลของสินค้า บริการ หรือแบรนด์เนมต่างๆ บนโลกออนไลน์ แต่ในส่วนของการตัดสินใจซื้อสินค้าบางประเภทจะเลือกเข้าไปซื้อที่หน้าร้านแบบออฟไลน์อยู่ ยกเว้นบางกลุ่มที่นิยมออนไลน์ได้เลย

ตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มแบรนด์เนมหรู หรือ Luxury ถือว่าเป็นกลุ่มที่กำลังมาแรงมากในประเทศจีน พบว่าพฤติกรรมของคนจีนวัยหนุ่มสาวมักหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้เป็นแนวทางสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าเช่น ยี่ห้อ ราคา รูปลักษณ์ โปรโมชั่น การบอกต่อ เป็นต้น

แต่เมื่อจะต้องตัดสินใจเลือกซื้อ ปรากฏว่านิยมไปซื้อร้านของแบรนด์เหล่านั้นในห้างสรรพสินค้าหลังจากค้นหาข้อมูลทางออนไลน์แล้วมากกว่า ทั้งยังมีข้อมูลชี้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนมากกว่า 45% จะไปเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าของแบรนด์ดังในต่างประเทศมากกว่า เพราะความน่าเชื่อถือ

ยุคของคลิปวีดิโอ ปัจจุบัน ผู้ให้บริการรายใหญ่สำหรับเว็บอีคอมเมิร์ซจีน เช่น Alibaba และ JD.com ก็กำลังแข่งขันกันผลิตคอนเทนท์เป็นคลิปวีดิโอผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากกว่า 10 ช่องทางเป็นอย่างต่ำ โดยเฉพาะเว็บไซต์เจ้าใหญ่อย่าง Taobao และ Tmall มีการผลิตคลิปวีดิโอที่มีจำนวนผู้เข้าชมรวมแล้วมากกว่า 100 ล้านครั้งเลยทีเดียว

ตามรายงานของ Chinainternetwatch ระบุว่า รูปแบบการทำตลาดด้วยคลิปวีดิโอออนไลน์ การทำ Live สด มีการเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงแพลตฟอร์มหลายช่องทางก็ทำให้รูปแบบการทำโฆษณาเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ขณะที่มูลค่าของการทำโฆษณาด้วยวีดิโอออนไลน์ทะยานขึ้นไปแตะ 4.59 หมื่นล้านหยวน และถือว่าเป็นรูปแบบที่มาแรงที่สุดในเวลานี้

มีมือถือเครื่องเดียว ทำได้ครบวงจร โดยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้แอพบนมือถือในจีนมีการเติบโตอย่างมาก เพราะคนจีนเองก็รู้สึกสะดวกสบายกับการมีมือถือเครื่องเดียวแล้วใช้บริการแบบครบวงจรได้

อีกทั้งพฤติกรรมการจ่ายเงินและชอปปิงของคนจีนกำลังมีแนวโน้มมาทางการชำระเงินทางออนไลน์โดยผ่านทางแอพบนมือถืออยู่แล้วด้วย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนจะทำให้รูปแบบชำระเงินและธุรกรรมต่างๆ ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มบนมือถือเป็นหลัก ภายใต้การใช้งานแบบครบวงจร หรือ One Platform ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนจีนสามารถเดินทางไปทำธุรกรรมและเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ได้ ขอเพียงมีมือถือเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น

คนจีนเชื่อ ‘เนตไอดอล’ และ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เน็ตไอดอล กำลังเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลด้านการตลาดในจีนโดยเฉพาะทางออนไลน์อย่างมาก โดยพื้นที่สำคัญก็คือการทำโซเชียลมีเดีย การทำคอนเทนท์ ไปจนถึงการทำ Live สด เพื่อรีวิวสินค้า หรือจะแค่การเอ็นเตอร์เทนเอาใจฐานะแฟนคลับที่ติดตามอยู่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแชทคุย ร้องเพลง เต้น หรืออื่นๆ ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางนำเสนอหลักของนักโซเชียลเหล่านี้

มีสถิติว่า ยอดคนที่เข้ามาดูคลิป Live โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเสนอคอนเทนท์บันเทิงที่โดยเฉลี่ยมีอยู่สูงถึงกว่า 89 ล้านคนต่อวัน ต่อหนึ่งคนจะเข้ามาดูประมาณ 5 ครั้งต่อวัน ใช้เวลาประมาณเฉลี่ย 43.8 นาที เพศชายเข้ามามากที่สุด ที่สำคัญคือพวกที่เข้ามามักมีกำลังจ่ายสูง โดยมักจะมาจากเมืองในระดับ Tier-1 ของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เป็นต้น

ดังนั้นช่องทางนี้จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ทุกแบรนด์ที่มุ่งเจาะตลาดจีน โดยเฉพาะทางออนไลน์ต้องการใช้บริการของเน็ตไอดอลเหล่านี้ เพื่อช่วยในการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าและรีวิวสินค้า ในรูปแบบของบล็อกเกอร์รวมถึงการทำคลิปวีดิโอและ Live ผ่านช่องทางสตรีมมิ่งต่างๆ ตามที่แต่ละคนมีแฟนคลับหรือแต่ละคนถนัดนั่นเอง

วีแชทเพย์ และ อาลีเพย์ สองแพลตฟอร์มนี้ถือว่าเป็นบริการที่โดดเด่นและมีคนจีนใช้งานมากที่สุดในเวลานี้ โดยทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมกับเว็บอีคอมเมิร์ซในจีน และยังสามารถใช้งานในต่างประเทศได้หากร้านค้ามีการร่วมบริการ

มีรายงานว่าปัจจุบันวีแชทเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศจีนที่ 1,000 ล้านคน ขณะเดียวกันยังนิยมใช้สำหรับธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ด้วย ส่วนอาลีเพย์ก็เป็นแพลตฟอร์มที่คนจีนใช้ในด้านอีคอมเมิร์ซมากที่สุด ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 800 ล้านคน ทั้งมีการเชื่อมต่อกับเว็บอีคอมเมิร์ซในเครือของอาลีบาบา และมากกว่านั้นคนจีนยังชอบที่จะเอาเงินสดมาเข้าบัญชีในอาลีเพย์มากกว่าจะไปฝากเงินไว้ในธนาคารเพราะให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่า

ที่สำคัญคือสามารถใช้ทำธุรกรรมได้สะดวก เนื่องจากธนาคารไปจนถึงโรงพยาบาลได้เชื่อมต่อระบบเข้ากับบัญชีผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มทั้งสองนี้แล้ว ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น

กำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด จีนกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ กรณีที่น่าสนใจเช่น Hema Supermarket ที่อยู่ในเครือของอาลีบาบา ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นโมเดลของการทำซุปเปอร์มาร์เก็ตในแบบไร้เงินสด รูปแบบที่ใช้คือ ลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกสั่งอาหารสด อาหารทะเล และของต่างๆ จากในซุปเปอร์ โดยที่ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว แล้วยังมีบริการส่งอาหารสดให้สำหรับใกล้บ้านขอเพียงมีอาลีเพย์อยู่ในมือถือเท่านั้นก็สามารถจัดการทุกอย่างได้แล้ว

ส่วนของวีแชทเพย์ก็จะมีการเปิดให้บริการสำหรับลูกค้าที่เข้าไปจ่ายเงินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มหานครเซี่ยงไฮ้ โดยมีการพัฒนาระบบการสแกนที่ไม่ต้องเอามือถือขึ้นมาสแกนได้ด้วยซ้ำ