จะช่วยให้เด็กไทยเรียนเก่งขึ้นได้อย่างไร
การปฏิรูปครูอาจารย์ให้เก่ง สอนเป็น และตั้งใจเอาใจใส่สูงเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้จะเน้นการพัฒนาที่ตัวผู้เรียน โดยเฉพาะจิตวิทยาการเรียนรู้
ซึ่งครูควรจะมีความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย นักเรียนนักศึกษาไทยจำนวนมากถูกสภาพแวดล้อมหลายอย่าง ทำให้พวกเขาขาดแรงจูงใจและความตั้งใจในการเรียน พวกเขาไม่ค่อยสนใจการเรียน ไม่เข้าใจลึกซึ้งว่ามันมีความหมายสำหรับเขาอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำอะไร
โดยธรรมชาติแล้วสมองของคนเราทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น เพียงแต่สิ่งที่ครูสอนอาจไม่จูงใจนักเรียนเท่านั้น ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนไหวจำนวนมากที่ใครๆ ก็อาจจะกดปุ่มการเปลี่ยนหาช่องที่น่าสนใจได้ในพริบตา จิตใจของนักเรียนก็เหมือนกัน เมื่อเขาเบื่อที่จะฟังครู เขาก็เปลี่ยนช่องจิตใจของเขาไปช่องอื่น เช่น ฝันกลางวัน คิดเรื่องอื่น งีบหลับ คุยซุบซิบกับเพื่อน หันไปมองสิ่งที่ดึงดูดความสนใจอื่น ๆ ฯลฯ
ดังนั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสมองประมวลข้อมูลข่าวสาร หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไร เพื่อที่เราจะได้จัดการกระบวนการสอนการเรียน ให้เข้ากับการทำงานของสมอง เราจะต้องให้ความสนใจ/นับถือต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ สีผิว และเชื้อชาติของมนุษย์ และความหลากหลายของความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วย
ในกระบวนการเรียนรู้ของคนเรานั้น อลิซ ธอมาส ประธานศูนย์การพัฒนาและการเรียนรู้แห่งหนึ่ง เสนอว่า มี 9 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดี คือ
1.การให้ความสนใจเราส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจต่อสิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ หรือน่าตื่นเต้นสำหรับเขา ดังนั้นครูจึงต้องพยายามทำบทเรียนให้เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับนักเรียน เช่น การเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตจริง เชื่อมโยงวรรณกรรมที่เร้าอารมณ์วัยรุ่นอย่างเรื่องโรมิโอและจูเลียต เข้ากับปัญหาความมีอคติและความเกลียดชังระหว่างคนต่างกลุ่มในชุมชนของเรา หรือปัญหาการยกพวกตีกันของวัยรุ่น
2.ความจำสมองของเราใช้ระบบความจำ 3 ระบบ คือความจำระยะสั้น (จำเบอร์โทรศัพท์ ของตัวเองและคนใกล้ชิดได้) ความจำเพื่อใช้งาน และความจำระยะยาว ในการช่วยให้เรารับ ใช้ เก็บ และฟื้นกลับคืนข้อมูลต่าง ๆ สมองเราจะคัดเลือกการจำ เฉพาะส่วนที่สมองเข้าใจว่ามีความหมาย คือ เชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีก่อนหน้านี้ได้ หรือที่สมองคิดว่าจำเป็น มีประโยชน์ น่าสนใจที่จะเก็บไว้ และคัดทิ้งข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยจำเป็นออกไป
การสอนที่จะช่วยให้นักเรียนจำได้ดี ควรสอนแบบให้นักเรียนเข้าใจความหมายเชื่อมโยงกับข้อมูลเดิมในสมองของเขา หรือประสบการณ์จริงของเขา เช่น การสอนคณิตศาสตร์เรื่องการหาร หากใช้โจทย์ที่ใกล้ตัวนักเรียน เช่น ว่าจะแบ่งขนมคุกกี้จำนวนหนึ่งให้เพื่อนในห้องแต่ละคนเท่า ๆ กันได้อย่างไร ย่อมดีกว่าโจทย์ที่เป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตของนักเรียน
3.การเรียนรู้ภาษา(ทั้งพูด อ่าน เขียน ฟัง)ให้ใช้งานได้ดี คือพื้นฐานที่จะไปช่วยการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง คนที่รู้ภาษาดีมักจะเรียนเก่งในเรื่องอื่น ๆ ด้วย นักเรียนที่มีปัญหาเรื่องภาษา จะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพลดลง การเข้าใจและจัดเก็บข้อมูลในสมอง การเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ก็จะด้อยลงด้วย นอกจากนี้ ยังมีภาษาที่สื่อได้โดยไม่ใช้ถ้อยคำอีกด้วย เช่น ภาพ รูปปั้น การเต้นรำ ดนตรี ฯลฯ ครูควรสนับสนุนให้นักเรียนหัดสื่อสารด้วยภาษาเหล่านี้ เพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกในทุกด้าน
4.การจัดระบบข้อมูลทางด้านมโนภาพ/สถานที่สมองคนบางคนถนัด/เก่งในเรื่องในการจัดระบบข้อมูลทางด้านมโนภาพ/สถานที่ เช่น เรื่องทิศทางที่ตั้งของสถานที่ต่าง ๆ การเขียนหนังสือหรือพิมพ์ตัวหนังสือให้มีช่องว่างที่น่าอ่าน การมีมโนภาพในการที่จะต่อภาพที่ถูกตัดต่อเป็นภาพเล็กๆ แบบจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ที่มีความหมาย คนที่เก่งในเรื่องนี้ ควรได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมแนวนี้ เช่น การทำแผนผัง แผนที่
5.การจัดระบบข้อมูลทางด้านเวลา/ลำดับต่อเนื่องเช่น การเข้าใจแนวคิดรวบยอดเรื่องเวลา วันที่ และลำดับต่อเนื่อง นักเรียนที่เก่งในเรื่องนี้ จะรู้จักการจัดการเรื่องเวลา และเขียนรายงานอย่างมีลำดับต่อเนื่องอย่างเป็นเหตุผลและอย่างไม่สะดุด การจัดการเรียนรู้แบบให้ผู้เรียนร่วมมือกัน (Cooperative Learning) จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนได้ใช้จุดแข็งของเขาเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่ม เช่น คนที่เก่งในด้านการจัดระบบข้อมูลทางด้านเวลา/ลำดับต่อเนื่อง ได้รับมอบหมายให้เป็นคนจับเวลา เป็นคนที่ถือเป็นมาตรฐานเรื่องเวลาในการทำงาน และเป็นคนจัดลำดับขั้นตอนของโครงการ เป็นต้น
6.การคิดในระดับสูงเกี่ยวข้องกับการเข้าใจข้อเท็จจริงและแนวคิดรวบยอดการจำแนกประเภท และการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้น และสังเคราะห์มันขึ้นมาใหม่ และการประยุกต์ใช้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา การฝึกการคิดในระดับนี้ต่างจากการจำข้อมูลและส่งกลับข้อมูลเดิมกลับมาโดยไม่ได้คิดสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการท่องจำแบบนกแก้วหรือหุ่นยนต์ (การจำเรื่องที่สำคัญบางเรื่องเช่นสูตรคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คำแปลของคำศัพท์ คำคม บทกวีที่กินใจฯลฯ มีประโยชน์ ควรเป็นการจำแบบเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีความหมาย นำไปใช้งานได้)
การวัดผลนักเรียน ควรวัดด้วยการให้นักเรียนใช้ความคิดทั้ง 3 แบบ คือ เชิงวิเคราะห์ เชิงปฏิบัติได้ และเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
7.ทักษะในการเขียนนักเรียนบางคนไม่มีแรงจูงใจที่จะเขียนรายงานให้จบเพราะว่า เขามีปัญหาการประสานงานของส่วนที่จะใช้ทำงาน คิดและเขียน ออกมา ครูต้องช่วยเหลือดูแลให้นักเรียนมีความพร้อมในเรื่องนี้ นักเรียนฝึกเขียนเอง การเขียนเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ฝึกฝนเรียนรู้ได้ คนที่อ่านมาก ฝึกเขียนให้มาก จะเขียนได้ดีขึ้น
8.อารมณ์การควบคุมอารมณ์ เป็นเหมือนการปิดเปิดสวิตซ์ไปสู่การเรียนรู้เมื่อเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย สงบ กระบวนการเรียนรู้ของเราจะเปิดไฟเขียวให้ไปได้ แต่เมื่อเรารู้สึกเกร็ง กังวลหรือกลัวกระบวนการเรียนรู้ของเราก็จะติดอยู่กับไฟแดง ดังนั้น ครูจึงต้องระวังว่าความตึงเครียดจะปิดกั้นจิตใจที่จะเรียนรู้ นักวิจัยพบว่า การเปิดเพลงคลาสสิก เช่น ของโมซาร์ทเบา ๆ ในห้องเรียน จะช่วยลดความตึงเครียด เปิดจิตใจและเพิ่มการเรียนรู้
9.การรู้จักตนเองส่วนแรกคือการรู้จักความคิดของตัวเราเอง การเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่เราคิด การรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนในเรื่องทักษะ หัวข้อ กิจกรรมต่าง ๆ ของตัวเรา ส่วนที่ 2 คือ การติดตามและควบคุมวิธีที่เราเรียนรู้ คือ ความสามารถที่จะรับภาระเรื่องโครงงานหรืองานต่างๆ และตัดสินใจว่าจะทำวิธีไหนให้ดีที่สุด รู้จักใช้ยุทธศาสตร์และทักษะของเราอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือการฝึกความฉลาดด้านการประสบความสำเร็จ (ความฉลาดทางอารมณ์และทางสังคม)ที่สำคัญมากกว่าการจดจำข้อมูล มีความฉลาดทางปัญญา/ทักษะในการทำงานบางอย่าง