ชิลี: จาก ‘ปิโนเชต์’ สู่ ‘ปฏิวัติประชาชน’
หากจะมีประเทศที่ดราม่าสุดๆ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าไม่น่าจะมีใครเกินหน้าชิลีไปได้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ความรุนแรงของปัญหาต่างๆ ที่หยั่งรากลึกต่อชาวชิลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวรากหญ้าและชนชั้นกลาง ระเบิดออกมาให้เห็นผ่านการเดินขบวนของชาวชิลีกว่าล้านคน ทั่วกรุงซานทิเอโก ที่มีประชากร 7 ล้านคน รวมถึงเกิดการสูญเสียชีวิตต่อชาวชิลีหลายสิบคนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายๆจุด จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติของประชาชน’ โดยหากย้อนกลับในปี 1973 ก็ได้เกิดความรุนแรงมากๆจากการปฏิวัติของทหารภายใต้กลุ่มของนายพลเอากุสโต ปิโนเชต์ ซึ่งสองสิ่งนี้ มีความเชื่อมโยงกันแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
การปฏิวัติโดยเผด็จการทหารเพื่อล้มล้าง นายซัลบาดอร์ อาเยนเด ผู้นำชิลีในขณะนั้น ได้เกิดขึ้นในปี 1973 ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐ โดยหนุนนายพลปิโนเชต์ ให้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในตอนนั้นอย่างมากมาย ทว่าสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงในเวลาต่อมา คือนายพลปิโนเชต์นั้น มีความดุดันกว่าที่แม้แต่สหรัฐคาดไว้ โดยได้ตั้งองค์กรลับเพื่อสังหารผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขาไม่ว่าจะอยู่ในประเทศชิลีหรือต่างประเทศก็ตามในเวลาต่อมา
ในขณะเดียวกัน ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Chicago Boys’ หรือกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ 4-5 ท่านที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก อันมีแนวคิดจากศาสตราจารย์ มิลตัน ฟรีดแมน ที่ให้กลไกตลาดเป็นผู้ตัดสินในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชิลีในยุคปี 1970 จนถึงต้นทศวรรษยุค 1990 ซึ่งหลังจากหมดยุคของนายพลปิโนเชต์ รัฐบาลยุคต่อมาก็ไม่ได้สานต่อแนวทางของ ‘Chicago Boys’ จนหลายส่วนของเศรษฐกิจชิลีเต็มไปด้วยการผูกขาดของรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองที่ใช้เงินในการกรุยทางขึ้นมาเป็นรัฐบาล ทั้งนี้ สำหรับปรากฏการณ์ ‘Chicago Boys’ ยังเป็นปริศนาว่านายพลปิโนเชต์ไปรู้จักและใช้งานนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไร โดยบางกระแสมองว่ามาจากการที่สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขึ้นครองอำนาจของเขา ได้เป็นผู้ให้ทุนนักเศรษฐศาตร์เหล่านี้ไปศึกษาต่อที่อเมริกาและให้กลับมาช่วยงานนายพลปิโนเชต์
โดยนับจาก ปี 1990 ที่สิ้นสุดยุคของนายพลปิโนเชต์ ทว่าผลพวงของการปกครองภายใต้ระบบเผด็จการเกือบ 20 ปีกลับไม่ได้สิ้นสุดลง รวมถึงการที่ประชาชนชาวชิลีอยู่ภายใต้บรรยากาศของความกลัว จากองค์กรลับของนายพลปิโนเชต์ที่จะจัดการตามเก็บผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขา และที่สำคัญ การเขียนรัฐธรรมนูญในสมัยของนายพลปิโนเชต์ที่ฝ่ายปกครองหรือรัฐบาลมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จโดยที่ไม่ต้องฟังความรอบข้างจากประชาชน เป็นจุดกำเนิดของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกชุดของชิลี ต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบันภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี เซบาสเตียน พิเนร่า นักธุรกิจชาวชิลี ที่คำนึงถึงเพียงแต่ความเห็นหรือผลประโยชน์ในส่วนของตัวเองเท่านั้น ก่อให้เกิดความเก็บกดต่อชาวชิลีโดยส่วนใหญ่ที่ถือว่าเป็นคนที่เคารพกฎหมายที่สุดประเทศหนึ่ง ด้วยปัญหาที่ฝังรากลึก ดังนี้
หลายท่านที่ติดตามข่าวต่างประเทศ อาจจะสงสัยว่าประเทศชิลีที่ถือว่ามีเศรษฐกิจที่ดีประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเพียง 2.1% ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางชิลี ก็เพิ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือหากมองจากความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ จะพบว่าในปี 2017 ถือว่าไม่ขี้เหร่ โดยค่าสัมประสิทธิ์ Gini (100 หมายถึงไม่เท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์แบบ) อยู่ที่ 46.6 ลดลงจาก 57.2 ในปี 1991แล้วความไม่พอใจจนเกิดการเดินขบวนของชาวชิลีมากกว่า 1.2 ล้านคน เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุที่แท้จริง มาจากปัจจัยดังนี้
หนึ่ง ‘การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการผูกขาด’ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของชิลีค่อนข้างต่ำ ทว่าราคาสินค้าที่จำเป็นต่อครอบครัวโดยเฉพาะชาวรากหญ้าของชิลีกลับถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ไฟฟ้าและประปา ถูกกฎหมายเขียนให้ราคาไม่สามารถปรับลดราคาลงมาได้ หรือแม้แต่ยารักษาโรคต่างๆ หรือ บริการรถเมล์ ก็มีการถูกสอบสวนว่ามีการฮั้วราคาให้มีระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ มิใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ทว่าได้ปูดเป็นเรื่องแดงขึ้นมา ด้วยกฎหมายที่เปลี่ยนไป จนเรื่องราวการฮั้วกันก็ค่อยๆ เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ทราบกัน โดยปัจจุบัน การฮั้วราคากันในชิลีถือเป็นความผิดตามกฎหมายที่โทษหนักถึงติดคุกเลยทีเดียว ทว่าการเปิดเผยถึงเรื่องราวเหล่านี้ ก่อให้เกิดความโกรธเคืองต่อชาวชิลีเป็นอันมาก
สอง ‘ตลาดแรงงานของชิลี’ ที่ดูเผินๆ ด้วยอัตราการว่างงานที่ 7% และค่าจ้างที่ขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ก็เหมือนจะดี ทว่าหากดูไส้ใน จะพบว่ากว่า 1 ใน 3 คือ การทำงานแบบที่ไม่มีสัญญาจ้างงานแบบเป็นทางการ หรือแม้แต่ผู้ที่มีงานทำ ก็เป็นแบบสัญญาชั่วคราวระยะสั้น รวมถึงอัตราการจ้างงานของผู้หญิงและคนอายุน้อยถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาประเทศ OECD โดยที่ผู้หญิงนับหลายหมื่นคนที่เป็นผู้นำครอบครัวไม่มีงานทำ หรือแม้ผู้มีงานทำ ก็ไม่รู้ว่าจะมีไปได้อีกกี่วัน
ทั้งนี้ ระบบการเมืองก็ไม่เอื้อต่อการปฏิรูปตลาดแรงงาน เนื่องจากผู้ที่ไม่มีโอกาสในการทำงานไม่ใช่ฐานเสียงหลักของนักการเมือง
สาม ‘ระบบบำนาญ’ ที่ไม่สามารถจะมีแหล่งเงินเพียงพอต่อผู้สูงอายุ ด้วยไม่มีการวางแผนให้ผู้ที่รายได้น้อยและปานกลางสามารถเก็บออมตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยทำงาน รวมถึงชิลีเริ่มเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุเหมือนกับในหลายประเทศ
ที่สำคัญ ระบบเส้นสายของสังคมชิลี ทำให้งานดีๆ ยังถูกเก็บไว้ให้กับผู้ดีเก่า รวมถึงชนชั้นนำทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาล ล้วนมาจากโรงเรียนดีๆเพียงไม่กี่แห่งในชิลี ที่หากมีคนเดินดินเข้าไปยุ่ง ก็จะถูกมองว่าเป็นมนุษย์ประหลาดในทันที
ท้ายสุด ‘ผลประโยชน์ของนักการเมือง’ ไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สูงเป็นหมื่นเท่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของชาวชิลีทั่วไป
โดยผลโพลในปี 2018 พบว่าคนชิลีกว่า 70% เชื่อว่าประเทศถูกปกครองด้วยกลุ่มอำนาจเพียงคนไม่กี่คนในประเทศ ซึ่งด้วยคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้นและพลังโซเชียลมีเดีย จึงได้เกิดปรากฎการณ์ ‘ปฏิวัติประชาชน’ จนนายพิเนร่าต้องยอมขึ้นเงินบำนาญ ค่าแรง และลดค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงปลดคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อให้วิกฤตนี้ อาจจะผ่านพ้นไปจากตัวเขาได้ครับ