เมื่อ'YouTube' เปิดศึกกับ'Spotify'และ 'Netflix' บนแผ่นดินไทย
ล่าสุด YouTube ได้ตัดสินใจเปิดให้บริการ YouTube Premium ซึ่งนับเป็นการเปิดศึกกับ Spotify และ Netflix ครั้งสำคัญ
เนื่องจากบริการ YouTube Premium นั้นมาพร้อมกับ YouTube Music และ YouTube Originals ซึ่งก็คือพวกหนังกับซีรีส์นั่นเอง
เมื่อเงินและเวลามีจำกัด
คนไทยวันนี้เล่นเน็ตกันวันละประมาณ 6 ชั่วโมง และส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาอยู่กับ VDO Streaming และ Music Streaming ที่สร้างความบันเทิงพวกนี้ล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, LINE TV, Netflix, Facebook Live Spotify, Joox และล่าสุดก็คือ YouTube Music และ YouTube Originals
ค่าบริการของ Streaming Provider พวกนี้ส่วนใหญ่ก็คิดกันประมาณ 100-300 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียวสำหรับผู้บริโภค เพราะไหนจะค่ามือถือ ค่าเน็ตบ้าน ค่าเติมเงินเกม ยังต้องมีค่า Streaming service พวกนี้อีก ซึ่งผมเชื่อว่าในระยะยาวคนจะยอมจ่ายเพียงเจ้าเดียว หรืออย่างมากก็ 2 เจ้าถ้ามีเงินมากหน่อย
Spotify VS YouTube Music
จุดสำคัญที่ผมเห็นคือ YouTube มี feature ที่ข่ม Spotify หรือแม้กระทั่ง Joox ก็คือการรวมผสาน Music Videos เข้าไปกับ Music Streaming ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะฟังอย่างเดียว หรือทั้งดูทั้งฟัง ซึ่ง Music Videos บน YouTube นั้นบอกเลยว่ามันเป็นจักรวาลที่กว้างใหญ่มาก มีทั้งเพลงของนักร้องอาชีพ นักร้องสมัครเล่น มากมาย รวมถึงมีสังคมออนไลน์ที่มี interactive มากๆ ถ้า YouTube Music พัฒนาคุณภาพเสียงให้เทียบเคียง Spotify ได้ผมว่างานนี้ YouTube จะ disrupt Spotify ได้ในระยะยาวครับ
นอกจากนี้ผู้ใช้บริการ YouTube Premium ที่แถมพ่วงด้วย YouTube Music นั้นสามารถปิดหน้าจอ และฟังเพลงไปพร้อมๆ กันได้แล้ว ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันอย่าง การเดินทาง การออกกำลังกายได้ด้วย จากปัจจุบันที่เวลาดู YouTube จะไม่สามารถปิดจอ หรือเล่น Multi-tasking ได้ เพราะทาง YouTube จำเป็นต้องให้ผู้ใช้เห็นโฆษณา เนื่องจากเป็นข้อสัญญาที่ YouTube มีกับบริษัทที่ลงโฆษณา
Netflix VS YouTube Orginals
ณ วันนี้เป็นที่ชัดเจนมากว่า Content ของ Netflix นั้นยังดีกว่า Youtube Originals อยู่มาก และ Netflix เองก็ ครองใจผู้ใช้งานในตลาด VDO On-Demand Streaming ไปมากแล้ว คือผู้ใช้ติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เรื่องนี้ผมมีโอกาสได้ถกกับพี่บี๋ คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ แห่งช่อง 3 ผ่านทาง facebook ซึ่งคุณอริยะได้ฝากข้อคิดไว้ ดังนี้ครับ
คุณอริยะได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า แค่เพียงราคาที่ถูกกว่าของ YouTube Premium ไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้คนเลิกดู Netflix ได้ เพราะ Netflix ได้ลงทุนเป็นเงินนับหมื่นล้านเหรียญในการสร้าง Content ระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ถ้า YouTube จะโค่น Netflix ให้ลงก็จำเป็นต้องลงทุนสร้าง content ดีๆ มาสู้
คุณอริยะได้ให้ความรู้เสริมอีกว่า สำหรับผู้บริโภคไทยโดยรวม แม้จะเพียงค่าบริการเดือนละ 159 บาทก็ถือว่าไม่ใช่น้อยสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่ง 85% ยังใช้มือถือแบบระบบเติมเงินอยู่เลย ไม่ง่ายที่คนไทยเหล่านี้จะพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการ ดังนั้นเต็มที่ก็คือประมาณ 15% ของคนไทยที่มีรายได้เท่านั้นคือประมาณ 5 ล้านคนที่สามารถมีกำลังซื้อใน Media Streaming Service เหล่านี้
สำหรับมุมมองของผมเอง ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Disruption ที่บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการ disrupt บริษัทเทคฯ ด้วยกันเอง และ YouTube ซึ่งมีบริษัทแม่คือ Google นั้นเป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีทรัพยากรรวมถึงเงินสดจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะทุ่มเงินในการสร้าง content ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของ Google เองว่าจะเลือกทางเดินอย่างไร
ที่สำคัญคือความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของ YouTube อยู่ที่ความแข็งแรงของ Community ที่มีการสร้าง Content และ user มี engagement ต่อ platform สูงมากๆ ซึ่งหาก YouTube นำความแข็งแกร่งตรงนี้มาผสานกับการสร้าง Content ที่ยอดเยี่ยมแล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ YouTube จะชนะ Netflix ในที่สุด
สุดท้ายคือความจริงที่เจ็บปวดคือการต่อสู้ครั้งนี้เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินไทยกับผู้บริโภคไทย โดยที่บริษัทไทยแทบไม่ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (Economic) เท่าไหร่เลย เห็นได้จากบริษัทธุรกิจเพลงอย่าง Grammy, RS หรือธุรกิจ Broadcaster อย่าง BEC, WORK ที่ยังไม่สามารถสร้างแพลตฟอร์มยอดนิยมมาตอบโจทย์คนไทยได้ ซึ่ง ณ จุดนี้ ผมมองว่าโอกาสที่บริษัทไทยจะกลับมาชนะในสังเวียนนี้เป็นไปได้ยากเหลือเกิน
ซึ่งในเรื่องนี้ คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (ช่อง 3) ได้ตอบสั้น ๆ ว่า “It’s not over until it’s over” ก็ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับคุณอริยะ ในภารกิจพลิกฟื้นช่อง 3 ของคนไทยให้สำเร็จนะครับ
FundTalk รายงาน