เสิ่นเจิ้น เปลี่ยนจากแหล่งอุตสาหกรรมที่เป็น Tech Copy กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพาผู้อบรมไปดูงาน “ไชน่า ไฮ-เทค แฟร์ 2019” ที่เมืองเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) ประเทศจีน ทุกครั้งที่พาคนไป หลายคนมักถามผมว่า ไฮ เทค แฟร์ ที่เซินเจิ้นจะมีนวัตกรรมอะไรหรือ เพราะภาพของเสิ่นเจิ้น คือ เมืองที่เป็นแหล่งก๊อบปี้สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ และเป็นศูนย์กลางผลิตที่เป็น Tech Copycat แต่เมื่อไปถึงงาน พบว่า งานจัดใหญ่โตมีจำนวนบูธมากมาย ตั้งแต่สินค้าไอทีเล็กๆ เทคโนโลยีโทรคมนาคม อุปกรณ์นวัตกรรมในโรงงาน ไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ และการแสดงสินค้าอย่างรถไฟฟ้า
ผู้ประกอบการไอซีที (Supply Side) ของจีนไม่มีภาพการเป็นนักก๊อปอีกต่อไป เห็นจากผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดง เต็มไปด้วยนวัตกรรมที่สร้างขึ้นใหม่จำนวนมาก มีทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัจฉริยะต่างๆ แม้แต่หุ่นยนต์ที่ดูเหมือนกันทุกบูธ แต่สิ่งที่พบคือ มีการประยุกต์ใช้งานที่ต่างกันเช่น ระบบ Face Recognition ที่มีมากมาย แต่ก็ทำ Data Analytics และใช้งานในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน
งานสมกับเป็นงานแฟร์ระดับชาติ มีทั้งหมด 9 ฮอลล์ แต่ละฮอลล์เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่างกันตั้งแต่ ไอที, สมาร์ทซิตี้ , สมาร์ท เฮลธ์แคร์ , ไฮเทค อินดัสทรี , นิว อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี, เอเนอร์จี้ (Energy) และแอโรว์ สเปซ มีแบรนด์ใหญ่ของจีนมาแสดงนวัตกรรมมากมาย
40 ปีก่อน เสิ่นเจิ้น มีประชากรน้อยกว่า 300,000 คน เป็นเมืองทำประมง แต่เมื่ออดีตประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและกำหนดมาตรการต่างๆ จูงใจนักลงทุนทั้งภาษี และกฎระเบียบการค้าต่างๆ ทำให้เซินเจิ้นเติบโตขึ้นรวดเร็ว จากมูลค่าจีดีพีน้อยกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 1979 กลายเป็น 1.25 ล้านล้านบาทในปี 2016 ประชากรเพิ่มขึ้น 11.37 ล้านคน ในปี 2016
ที่น่าสนใจ คือ เสิ่นเจิ้นเปลี่ยนจากแหล่งอุตสาหกรรมที่เป็น Tech Copy เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาจกล่าวได้เป็น The Silicon Valley of Hardware ทั้งยังเป็นศูนย์กลางฮาร์ดแวร์ สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมมากมายทั้ง หุ่นยนต์ โดรน อุปกรณ์แวร์เอเบิล, อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และอุปกรณ์ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
เสิ่นเจิ้นยังเป็นศูนย์กลางวิจัยและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่อันดับสองของโลก ผลิตส่งออกไปขายหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะที่ผลิตและส่งมอบในจีนมีถึงปีละ 171,000 คัน เมื่อมาที่เซินเจิ้นจะเห็นรถยนต์บีวายดี วิ่งจำนวนมากทั้งรถส่วนตัว รถแท็กซี่ และรถเมล์
เมืองเสิ่นเจิ้นเป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยมาก ทุกอย่างจ่ายผ่านโมบาย เพย์เม้นท์ ของอาลีเพย์ หรือ วีแชท มีตั้งแต่เช่าจักรยาน ซื้อของตามร้านค้า ร้านขายของข้างทาง อาหารข้างถนน แม้แต่นักดนตรีที่มาเล่นตามสถานที่สาธารณะยังต้องจ่ายเงินผ่านคิวอาร์เพย์เม้นท์ และหากเราต้องใช้เงินสด ในร้านเล็กๆ ก็จะปฏิเสธการรับเงินเพราะร้านไม่มีเงินสดทอนให้ จนอาจกล่าวได้ว่า เซินเจิ้นเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเกือบ 100%
เสิ่นเจิ้นดูมีความเป็นตะวันตกมากกว่าเมืองจีนทั่วๆ ไป สะอาด ค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง คนชั้นกลางมีฐานะที่ดี เซินเจิ้นมีท่าเรือที่มีความหนาแน่นอันดับที่ห้าของโลก มีตึกสูงและโรงแรมดีๆ จำนวนมาก จำนวนตึกสูงกว่า 200 เมตรที่สร้างขึ้นทั่วโลกในปี 2016 จะพบว่า มีถึง 11 แห่งทีสร้างขึ้นใหม่ในเซินเจิ้น มากกว่าที่ใดๆ ในโลก แต่ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาจีน และยังมีการบล็อกอินเทอร์เน็ตในหลายๆ เว็บไซต์ เช่น กูเกิล และไลน์
ขณะที่ คนทำงานรวมถึงคนที่มาชมนิทรรศการส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว เสิ่นเจิ้นมีความเจริญมาก มีจีดีพีสูงสุดเมืองหนึ่งของจีน มีรายได้หลักมาจากไอที มีบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในเมืองนี้มากมายอย่าง หัวเว่ย, แซดทีอี, เทนเซ็นต์, ดีเจไอ และบีวายดี มีบุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายทำให้เมืองเซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนยิ่งเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย
ทุกครั้งที่เดินทางไปก็จะได้เห็นตึกใหม่เกิดขึ้นมากมาย และสร้างขึ้นด้วยความรวดเร็ว ที่น่าสนใจ คือ อินดัสเทรียล พาร์ค จำนวนมากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น Shenzhen Hi-Tech Industrial Park (SHIP) มีคนวัยหนุ่มสาวมาทำงาน คนไอทีที่นี่ทำงาน 996 คือ เริ่มงาน 9 โมงเช้า เลิก 9 โมงเย็น และทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ การใส่ใจในเรื่องการศึกษา ส่งเสริมให้บุคลากรได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เช่น เอไอ อย่างจริงจัง
ทุกทริปที่มาเสิ่นเจิ้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จไม่ได้มาด้วยเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่เพราะมีการพัฒนาคนต่อเนื่อง สนับสนุนอย่างเป็นระบบ ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ คือ คุณภาพของคนไม่ว่าจะปกครองด้วยระบบใดก็ตาม