พฤติกรรม 2020 ผู้บริโภคกับโรคฉาบฉวย
คุณเป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่กินอาการแช่แข็ง หรือ สั่งบริการ GRAB food มาส่งที่บ้านหรือไม่คะ?
นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้ทำกับข้าวเอง หรือไม่ได้รับประทานกับข้าวฝีมือของคนที่คุณรัก?
คุณเคยลองสังเกตตัวเองมั้ยที่บางครั้งคุณยอมที่จะละทิ้งความพิถีพิถัน ยอมกินอาหารที่อร่อยน้อยลง เพราะกว่า delivery จะส่งมาถึง อาหารอาจจะเย็นชืดลง หรือ น้ำแข็งละลายเพื่อความสะดวก รวดเร็ว หรือแทนที่จะเทอาหารใส่จาน จัดวางอาหาร ให้สวยงามบนโต๊ะ กลับกลายเป็นว่าคุณก็กินจากกล่อง แบบง่ายๆจะได้ไม่ต้องล้าง
ถ้าคุณเจอกับประสบการณ์ดังกล่าว คุณเป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่อาจจะเข้าข่ายเป็นโรค ฉาบฉวย ซึ่งกำลังกระจายตัวและแพร่พันธุ์ไปพร้อมกับความทันสมัยของโลกใบนี้ ความฉาบฉวยตรงข้ามกับความพิถีพิถันโดยสิ้นเชิง และทำให้คนเรามีจิตใจที่หยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ สมัยนี้ เราไม่มานั่งเพลิดเพลินกับการทำงานฝีมือ ซึ่งเป็นการทำสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน ทำให้จิตใจมีความสุข และ ไม่มีเวลาไปขุ่นหมองยุ่งเรื่องชาวบ้าน เราแทบจะไม่ได้ใช้เวลาอย่างมีความสุขทำกับข้าวให้คนที่เรารักกิน เพราะทุกอย่างง่ายไปหมดเพียงแค่คลิ๊ก จึงไม่จำเป็นต้องใส่ความพยายามใดๆอีกต่อไป เช่น การเรียนภาษา เพราะเดี๋ยวนี้มีเครื่องแปลภาษาแบบ เรียลทาม เราไม่ต้องเรียนขับรถ เพราะอีกหน่อย รถยนต์อัตโนมัติขับได้เองไม่ต้องมีคนขับ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องมีความมุ่งมั่น อดทนเพื่อให้ได้มา สามารถใช้ชีวิตฉาบฉวยได้สบายๆ
ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสะดวกขึ้น มนุษย์ก็มีกิจกรรมที่เคยต้องทำน้อยลง และมีเวลามากขึ้น แต่เรากลับใช้เวลาที่เหลือเหล่านี้ไปอย่างฉาบฉวย ไม่สามารถทำอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะรู้สึก ‘เสียเวลา’ หาซื้อง่ายกว่า เร็วกว่า แต่เรากลับไม่รู้สึกเสียเวลาที่หมดไปบนโลก social เวลาของเราถูกยึดครองโดย ‘สกรีน’ ไม่ว่าจะเป็น สกรีนมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ไม่เว้นแม้แต่เวลาเดียวที่เราจะห่างจากมือถือ คือ ช่วงขับรถ เพราะไม่ว่า Apple’s CarPlay, Amazon’s Echo Auto, Tencent IoV (Internet of Vehicle) กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถช้อป หรือ ทำกิจกรรมออนไลน์ได้สารพัด บนสกรีนหน้าจอรถยนต์!
เมื่อชีวิตผู้บริโภคหลุดจากสกรีนไม่ได้ ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะใช้ชีวิตที่ถูกกำหนดโดยผู้ที่ออกแบบให้เรามีพฤติกรรมติดสกรีนเช่นนี้ และแน่นอนว่าความฉาบฉวยไม่มากับศิลปะใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะทางสายตา งานฝีมือ หรือ ทางความคิด ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่เสี่ยงต่อการขาดความคิดที่ลุ่มลึก ขาดศิลปะในการใช้ชีวิต และเสี่ยงต่อการเป็นโลกซึมเศร้ามากขึ้น เพราะเราแทบไม่ได้ใช้เวลาพัฒนาทักษะใดๆ ให้นำพาชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกเสียจากการใช้เวลาไปกับเรื่องบนโลกโซเชียลที่ดูเหมือนจะไม่ได้พัฒนาจิตใจเราให้สูงขึ้นได้เลย
แต่ถ้าอยากหลุดจากโรคฉาบฉวย ทำได้ง่ายมากค่ะ วางสกรีนลง และ ออกไปทำกิจกรรม กับ คนที่คุณรักมากขึ้นนะคะ