แนวทางการปฏิรูปการศึกษาในเรื่องหลักๆ
การปฏิรูปการศึกษาของไทยยังได้ผลน้อย เรายังจัดการศึกษาทั่วทั้งประเทศได้อย่างไม่ทั่วถึงและส่วนใหญ่มีคุณภาพปานกลางและต่ำ
การปฏิรูปการศึกษาควรมีเป้าหมายกว้างไกลกว่าแค่ผลิตคนมีความรู้/ทักษะไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือควรมุ่งสร้างพลเมืองที่มีความคิดอ่าน อุปนิสัยใจคอ ทักษะ และความรู้/ทักษะแบบใหม่ที่จะทำงานและใช้ชีวิตเพื่อสร้างสังคมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมได้ดีด้วย
การจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ได้ผลจริงต้องทำใน 3 เรื่องใหญ่คือ 1. ปฏิรูปโครงสร้างระบบการบริหารจัดการ 2. ปฏิรูปผู้บริหาร ครู, อาจารย์ 3. ปฏิรูปหลักสูตร วิธีการเรียน การสอน การวัดผล
1.ระบบการบริหารจัดการควรผ่าตัดใหญ่จากระบบรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงศึกษาส่วนกลางและบริหารแบบใช้อำนาจหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ ซึ่งเทอะทะ ประสิทธิภาพต่ำ ไปเป็นระบบบริหารแบบกระจายอำนาจ งบประมาณ ความรับผิดชอบ ไปที่ท้องถิ่น เขตการศึกษา สถานศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น อาจใช้วิธีทยอยทำอย่างมีจังหวะขั้นตอนสำหรับท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อทำให้เกิดการบริหารที่คล่องตัว ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสสูงขึ้น
2.ปฏิรูปผู้อำนวยการ ครูใหญ่ ให้ทำงานบริหารเป็น อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ปฏิรูปครู, อาจารย์ให้มีความรู้ ทักษะ คุณสมบัติ ใฝ่รู้ รักการอ่าน คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็น และสอนแบบใหม่ให้นักเรียนเข้าใจคิดวิเคราะห์เป็น ลำดับแรกคือ ปฏิรูปอาจารย์ที่สอนคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ผู้มีหน้าที่สำคัญในการฝึกหัดครูรุ่นใหม่
ปฏิรูปการบริหารบุคคล ให้ผู้บริหารครูอาจารย์ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ อย่างเป็นอิสระประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น และได้ผลตอบแทนตามผลงานเพิ่มขึ้น
3.ปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้แบบสัมมนา ทดลอง ทำโครงการ ทำวิจัย ทำความเข้าใจปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา ที่ผู้เรียนจะต้องอ่าน ค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ครูเปลี่ยนจากผู้บรรยายตลอดเวลาเป็นโค้ช เป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนต้องฝึกการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น ฝึกภาคปฏิบัติ วิจัย ทำโครงการแก้ปัญหา การฝึกทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งฟังคำบรรยายเพื่อจำไปสอบ
การประเมินผล ต้องเปลี่ยนตามให้สอดคล้องกับหลักสูตร และวิธีการสอนแบบฝึกให้คนคิดวิเคราะห์ อภิปราย ลงมือปฏิบัติ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเข้าใจว่าการประเมินผลเป็นกระบวนการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ต่อของผู้เรียนเป็นหลัก ผู้เรียนรู้จักที่จะประเมินตนเองได้ เพื่อนช่วยกันประเมินได้ ครูช่วยกันประเมินนักเรียนในโรงเรียนของตน ครูประจำชั้นควรเป็นครูประจำชั้นของเด็กกลุ่มเดิม (ซึ่งไม่ควรมากกว่าชั้นละ 30 คน) ที่เลื่อนชั้นไปอย่างต่อเนื่อง ครูผู้นั้นจะได้รู้พัฒนาการความก้าวหน้าของลูกศิษย์กลุ่มเดิมของตน ในทุกด้านรวมทั้งการพัฒนาพฤติกรรม อุปนิสัย ความนึกคิด ค่านิยม ฯลฯ ได้อย่างใกล้ชิด
วิธีการสอน สอบแบบมาตรฐานที่เน้นการวัดว่าใครจำข้อมูลได้มากกว่าใคร แค่ไหน ทำให้ผู้เรียนเครียด มองว่าการเรียนการสอบเป็นเรื่องแข่งขันกันกับคนอื่นมากกว่าเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง แข่งกับตัวเอง การสอบหรือประเมินผลนักเรียนแบบใหม่ที่มุ่งวัดการเข้าใจ คิดวิเคราะห์เป็น ควรทำโดยครูในโรงเรียนเองแบบวัดความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร เพื่อที่จะหาทางช่วยให้พวกเขาแต่ละคนพัฒนาการเรียนรู้ของเขาได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องพัฒนาครูอาจารย์ให้มีความรู้ทักษะการประเมินผลแนวใหม่นี้ให้ได้ด้วย
หลักสูตร วิชาพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นประถมควรปรับให้เน้นการเข้าใจประเด็นสำคัญเพื่อไปใช้งานในโลกจริงต่อไปได้ ในระดับมัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย ควรรวมสาขาวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ การบริหารจัดการ การเมือง สังคมวิทยาแนววิพากษ์ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม สังคมไทยในระบบโลกทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ระบบนิเวศ (รวมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เข้าใจและเห็นวิธีแก้ปัญหาภาพใหญ่ทั้งระบบได้ และรู้วิธีไปอ่านค้นคว้าเพื่อแก้ไข/พัฒนาปัญหาเฉพาะด้านต่อไป
ทั้งผู้เรียนและครูอาจารย์ต้องศึกษาวิเคราะห์จากปัญหาต่างๆ ในสังคมจริง ระดับสังคมหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย อย่างเข้าใจความเชื่อมโยงกับโครงสร้างและปัญหาระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกทั้งโลก
การสอนแบบเน้นการจดจำข้อมูลแบบยุคก่อนมีความจำเป็นลดลง เพราะความรู้ในยุคนี้ผู้เรียนสามารถค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ค้นหา เช่น Google Wikipedia และเว็บไซต์ค้นหาและคลังข้อมูลความรู้อื่นๆ ได้สะดวกขึ้น (รวมทั้งสามารถเลือกศึกษาออนไลน์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันที่เปิดหลักสูตรสอนออนไลน์ได้ฟรี หรือเสียค่าใช้จ่ายต่ำในกรณีที่ต้องการเรียนให้จบเพื่อรับวุฒิบัตร)
เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการสอนให้ผู้เรียนรักในเรื่องการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน (อ่านเพราะสนุก ได้สนองความอยากรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อสอบ) การค้นคว้าหาความรู้ และรู้ว่าจะค้นหา คัดแยก ประเมินข้อมูลว่าอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง สำคัญ น่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร รู้จักการคิด วิเคราะห์ ตีความ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เพื่อให้ได้ความรู้ ความเข้าใจที่เราสามารถอธิบาย ถ่ายโอนใช้งานได้จริง
ตัวเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ทันสมัยขึ้นไม่ได้อาจช่วยให้คนไทยเก่งได้โดยอัตโนมัติ คนไทยจะต้องเรียนรู้ว่าการอ่าน เรียนรู้ต่อด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพคืออะไร และรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากครูจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาต่างๆ ในโลกสมัยใหม่แล้ว ควรฝึกให้ผู้เรียนรักการอ่านเพื่อความเลพิดเพลิน ใฝ่การเรียนรู้ ได้เรียนรู้จักวิธีวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัญหาและคิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผล, มีหลักฐานพยาน มีการทดลองยืนยันได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางสังคม การพัฒนาภาวะผู้นำและความสามารถในการสื่อสาร เข้าใจและทำงานร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะในโลกยุคใหม่ที่มีการใช้ความรู้สมัยใหม่ แข่งขันกันในทางเศรษฐกิจสูง การทำงานแบบร่วมมือกันเป็นทีมเวิร์คจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโลกที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่แบบร่วมมือ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร่วมมือกันพัฒนาอย่างเป็นธรรม และอย่างพยายามให้ยั่งยืนด้วย