โรคอัลไซเมอร์กับยีน APOE e4

โรคอัลไซเมอร์กับยีน APOE e4

ผมได้กล่าวในบทความก่อนหน้าว่าการมียีน APOE ประเภท 4 หรือ APOE4 นั้นจะเพิ่มความเสี่ยงให้มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อีก 7% ในภาพรวม

ซึ่งในครั้งนี้ผมขอขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เห็นความเสี่ยงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

มนุษย์ทุกคนต้องมียีน APOE เพราะยีนนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลในร่างกาย ตลอดจนการช่วยกำจัดโปรตีน beta amyloid (ซึ่งการพอกพูนของโปรตีนนี้เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคอัลไซเมอร์) แต่ APOE มีอยู่ 3 ประเภทคือ APOE2 APOE3 และ APOE4 ซึ่งงานวิจัยในสหรัฐสรุปว่าสัดส่วนของการมียีน APOE ประเภทต่างๆ ในประชากรนั้นมีดังนี้

APOE คู่หมายความว่า ยีนนั้นเราจะได้รับข้างหนึ่งจากบิดาและอีกข้างหนึ่งมาจากมารดา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่จะมียีน e3 ไม่ว่าจะเป็น e3/e3 หรือ e3/e2 หรือ e3/e4 ที่ควรสังเกตคือคนส่วนใหญ่จะไม่มียีน e4 กล่าวคือ e2/e2+e2/e3+e3/e3=72.5%

แต่สมาคมอัลไซเมอร์ในรายงานเรื่องอัลไซเมอร์ประจำปี 2560 อ้างงานวิจัยที่รวบรวมงานวิจัย 20 ชิ้น (meta-analysis) พบว่าคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นมีสัดส่วนมากถึง 56% ที่มียีน APOE4 หนึ่งข้าง ในขณะที่ประชากรทั่วไปนั้นมีคนที่มี APOE4 หนึ่งข้างเพียง 25% สำหรับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์และมียีน APOE4หนึ่งคู่ นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 11% แต่สำหรับประชากรโดยรวมนั้นคนที่มี APOE4 หนึ่งคู่มีอยู่เพียง 2%

สมาคมอัลไซเมอร์ที่อังกฤษ (Alzheimers.org.uk) ประเมินคล้ายกันว่า

ประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมดจะมียีน APOE4 หนึ่งข้าง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ตอนสูงอายุ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มี APOE4 ประมาณ 2 เท่าตัว และจะเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ก่อนคนที่ไม่มี APOE4

ประมาณ 2% ของประชากรทั้งหมดจะมี APOE4 หนึ่งคู่ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ 3-5 เท่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่มี APOE 4 หนึ่งคู่เป็นจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ (แต่มีการประเมินว่าประมาณ 50-60% ของคนกลุ่มนี้จะเป็นโรคอัลไซเมอร์)

ประมาณ 60% ของประชากรจะมี APOE3 หนึ่งคู่ แต่กลุ่มนี้ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซเมอร์ประมาณ 25% เมื่ออายุใกล้ 90 ปี

คนที่มี APOE2 หนึ่งคู่จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยที่สุด แต่คนในกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยมาก

157718873383

ที่น่าสนใจคือผลงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Harvard เมื่อเดือน พ.ย.2562 ซึ่งติดตามดูอาการของครอบครัวชาวโคลอมเบียกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 1,000 คนที่มียีนกลายพันธุ์ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่อายุ 44 ปี เว้นแต่มีผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้อายุกว่า 70 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีอาการของอัลไซเมอร์

นักวิจัย Harvard พบว่าผู้หญิงคนนี้มียีน APOE3 รุ่นพิเศษที่แตกต่างจาก APOE อื่นๆ ซึ่งพบครั้งแรกที่เมือง Christchurch (ประเทศนิวซีแลนด์) จึงมีชื่อว่า APOE3ch ผู้หญิงคนนี้มี APOE3ch หนึ่งคู่คือรับกรรมพันธุ์นี้มาจากทั้งพ่อและแม่

นักวิจัยพบว่าแม้ผู้หญิงคนนี้จะมีโปรตีน beta amyloid เป็นจำนวนมากในสมอง (ซึ่งควรจะทำให้มีอาการอัลไซเมอร์อย่างรุนแรง) แต่ปรากฏว่ามีจำนวนโปรตีนเตา (Tau) น้อยมาก ซึ่งปกติแล้วเมื่อมี beta amyloid มาก ก็จะมีโปรตีนเตาเป็นจำนวนมากพร้อมกันไปด้วย ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า APOE3ch นั้นช่วยลดการสร้างโปรตีนเตา ซึ่งมีผลไม่ให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นจึงเป็นความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการคิดค้นตำรับยาที่จะทำหน้าที่ควบคุมโปรตีนเตาเหมือนกับ APOE3ch ซึ่งจะช่วยป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

ในอีกด้านหนึ่ง Broad Institute ซึ่งเป็นสำนักวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT ได้ใช้เครื่องมือตัดแต่งพันธุกรรมที่ดัดแปลงมาจาก Crispr Cas9 มาเป็น Crispr Cas13 (วันหลังผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Crispr Cas9 ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้มนุษย์สามารถตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อปฏิเสธความแก่ของร่างกายได้ในอนาคต) ซึ่ง Crispr Cas13 นี้ คือการตัดแต่งพันธุกรรมของ APOE4 ให้กลายเป็น APOE2 ซึ่งเป็นยีนที่ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ให้ต่ำที่สุด

ทั้งนี้เพราะนักวิจัยบอกว่า APOE4 กับ APOE2 นั้นมีความแตกต่างกันน้อยมาก กล่าวคือดีเอ็นเอของยีนซึ่งมีโครงสร้างเหมือนบันไดเกลียวคู่และมีบันได 4 ขั้น (A,T,C,G) นั้น มี “บันได” ที่แตกต่างกันเพียง 2 ขั้นเท่านั้น ดังนั้นการใช้ Crispr Cas13 เข้าไปตัดบันไดเพียง 2 ขั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็น่าจะลดความเสี่ยงที่การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น

ดังนั้นแม้บางคนจะมียีน APOE4 แต่ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ 9 ข้อที่ผมได้เคยกล่าวถึงเพื่อรอให้วิทยาศาสตร์สามารถหาแนวทางในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาที่ไม่นานเกินรอครับ