ข้อบังคับทางกฎหมาย ห้ามบริโภคและนำทุเรียนเข้าพื้นที่สาธารณะ

ข้อบังคับทางกฎหมาย ห้ามบริโภคและนำทุเรียนเข้าพื้นที่สาธารณะ

ในฤดูกาลของผลไม้ที่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกภายใต้ชื่อทุเรียน(Durian) หลากหลายสายพันธุ์เช่นนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นกิจกรรมอันเป็นที่โปรดปราน

ของทั้งคนท้องถิ่นในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนคงจะหนีไม่พ้นการรับประทานทุเรียนถึงถิ่นเพาะปลูก

สิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยนอกเหนือไปจากรสชาติที่หอมหวานของมันแล้ว กลิ่นของทุเรียนอันเป็นที่มาของคำเรียกติดปากของผู้ไม่คุ้นเคยกับรสชาติและกลิ่นของมันว่า “Stinky Fruit” นี้เองเป็นที่มาของประเด็นทางกฎหมายที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในบทความฉบับนี้ ภายใต้บริบทข้อบังคับทางกฎหมายระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์

หลายท่านอาจกำลังมองหาความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคและการซื้อทุเรียนกับประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นจุดเกาะเกี่ยวของทุเรียนและข้อบังคับทางกฎหมายคือเรื่องราวของ กลิ่น ดังประเด็นซึ่งชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กได้เคยหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางมารยาทสังคม

157856905620

กล่าวคือ ทุเรียนไม่ได้หอม หวานละมุนสำหรับทุกคน ดังที่พบเห็นเป็นประเด็นข่าวบ่อยครั้งถึงการรับประทานทุเรียนในพื้นที่สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงความคับข้องใจของบุคคลรอบข้าง หรือดังกระแสข่าวเมื่อไม่นานมานี้ถึงการรับประทานและทิ้งซากอารยธรรมของผลทุเรียนไว้ในถังขยะ ณ อาคารเรียนของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย จนส่งกลิ่นประหลาดเป็นเหตุให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกจากสถานที่ดังกล่าว เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นหนึ่งในที่มาของการห้ามการนำทุเรียนเข้าสถานที่สาธารณะในประเทศต่างๆ

ในสิงคโปร์ สิ่งหนึ่งที่ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้คือป้ายสัญลักษณ์ห้ามทุเรียนในพื้นที่สาธารณะ หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่าป้ายสัญลักษณ์ห้ามทุเรียนดังกล่าวไม่มีการกำหนดตัวเลขเป็นโทษค่าปรับจากการฝ่าฝืนข้อบังคับทางกฎหมายดังกล่าว จากบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานควบคุมการใช้พื้นที่สาธารณะชาวสิงคโปร์พบว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลไม่มีการกำหนดโทษที่ชัดเจนสำหรับการนำทุเรียนเข้าหรือบริโภคในสถานที่สาธารณะ (Public Place) เป็นการเฉพาะ

หากแต่เมื่ออ้างอิงพระราชบัญญัติระบบขนส่งมวลชนบทที่ 263A มาตรา 42 ส่วนที่ IV อันว่าด้วยความประพฤติของผู้โดยสารกฎระเบียบข้อที่ 11 ระบุว่า “ทุกคนเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะและบนรถไฟจะต้องปฏิบัติตามประกาศสัญลักษณ์โดยอาศัยเหตุผลทั้งหมดและคำแนะนำของผู้มีอำนาจใดๆ ตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด” การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวจะทำให้เกิดโทษสูงสุดจำนวน 500ดอลลาร์สิงคโปร์

การตีความกฎข้อบังคับดังกล่าวผ่านมุมมองของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวหมายความรวมถึง โดยปกติแล้วหากเจ้าหน้าที่ ณ สถานีรถไฟฟ้า จุดรอรถสาธารณะ ภายในพาหนะสาธารณะเอง หรือห้างสรรพสินค้าและสถานที่สาธารณะอื่นๆ พบเห็นการรับประทานหรือการนำทุเรียนเข้าสู่สถานที่ดังกล่าว ในเบื้องต้นจะทำการตักเตือนให้กำจัดทุเรียนดังกล่าวก่อนที่บุคคลดังกล่าวจะผ่านเข้าสู่สถานที่ดังกล่าว ไม่ว่าโดยการรับประทานให้หมดหรือโยนทิ้งไป

หากภายหลังได้มีการแจ้งเตือนดังกล่าวและยังคงมีการฝ่าฝืนหรือพบว่ามีการลักลอบนำทุเรียนเข้าหรือรับประทานทุเรียนในพื้นที่สาธารณะโดยถูกพบเห็นภายหลัง อาจต้องรับโทษตามบทบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวโดยเป็นไปตามขอบเขตอัตราโทษของหน่วยงานดังกล่าว

โดยอาศัยระเบียบการกำหนดโทษและความมีวินัยของชาวสิงคโปร์นั้นจึงไม่บ่อยครั้งนักที่ข้อบังคับทางกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ สำหรับในประเทศไทยเองนั้นสถานที่ที่อาจพบป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวได้บ่อยครั้งที่สุดคงจะหนีไม่พ้น โรงแรมและสถานีขนส่งสาธารณะรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงตัวสถานีอีกด้วย เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์ โดยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความแออัดในสถานที่สาธารณะ ส่งผลให้ข้อบังคับเพื่อควบคุมการบริโภคทุเรียนและการนำทุเรียนเข้าสู่สถานที่บางแห่งมีความเข้มงวดพอสมควร ทั้งนี้ยังอาจหมายความรวมถึงขนุน มังคุด หรือมะม่วงในบางสถานที่อีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งถูกตั้งคำถามจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปซึ่งไม่คุ้นเคยกับการบริโภคทุเรียนโดยสิ้นเชิง กล่าวคือการที่สถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งมีป้ายสัญลักษณ์แสดงข้อความการไม่อนุญาตให้บริโภคหรือนำทุเรียนเข้าสู่บริเวณดังกล่าว หากแต่ผู้คนต่างละเลยและไม่เคารพข้อบังคับทางกฎหมายดังกล่าว

จากข้อมูลที่ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้เคยชี้แจงไว้นั้นพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีผลบังคับใช้และมีการกำหนดโทษ (Legal Enforcement) อย่างชัดเจนหากแต่เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติอันเป็นเครื่องมือในการแสดงจารีตประเพณี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือมิใช่ความเคารพต่อกฎหมายในการควบคุมปัญหาดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

เช่นเดียวกับโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก มิใช่แต่เพียงในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังหมายความรวมถึงต่างจังหวัดในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ป้ายสัญลักษณ์ห้ามทุเรียนยังคงทำหน้าที่เป็นเพียง “Soft Law” หรือการขอความร่วมมือในการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

หรือหากมีการกำหนดค่าปรับจะเข้ากรณีเป็นเพียงการปรับหรือกำหนดโทษตามสถานที่นั้นๆ เป็นการเฉพาะ หรืออาจตีความได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวคือ Premises Rule ไม่เหมือนกับข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวอันอาจกล่าวได้ว่าเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายต่อประเด็นของทุเรียนเป็นการเฉพาะ

กล่าวโดยสรุปนั้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งของตลาดผลไม้หลากหลายชนิด รวมถึงทุเรียนด้วย การบริโภคหรือนำทุเรียนเข้าสู่สถานที่สาธารณะนั้นควรจะเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับทางกฎหมายของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศ ไม่ว่าข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายซึ่งมีการกำหนดโทษหรือเป็นเพียงจารีตหรือการขอความร่วมมือ เพื่อบรรทัดฐานและการสร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นหลักปฏิบัติในการบริโภคและเลือกซื้อทุเรียน

โดย... 

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์