เศรษฐกิจสร้างสรรค์สไตล์ญี่ปุ่น: Inside-out & Outside-in

เศรษฐกิจสร้างสรรค์สไตล์ญี่ปุ่น: Inside-out & Outside-in

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สามารถนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการได้อย่างน่าสนใจ

ในเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมารายได้หลักของประเทศมาจากอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ผ่านมาจึงเป็นรูปแบบ Inside-out คือ สร้างความแข็งแกร่งในประเทศก่อนด้วยการเพิ่มผลิตภาพปัจจัยการผลิตภายในประเทศและการยกระดับการผลิตสินค้าในประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแล้วจึงส่งออกไปยังต่างประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จัก เราเริ่มเห็นสินค้า lifestyle จากญี่ปุ่น เช่นUniqlo และ Muji สามารถตีตลาดโลกจนสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยความน่าสนใจหนึ่ง คือ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการด้วยการนำความความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันตัวอย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Muji ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นผ่านการยึดหลักความเรียบง่าย สะดวกต่อการใช้งาน และคุณภาพที่ดีมีมาตรฐาน โดย Mujiได้นำสินค้าที่คนนิยมใช้ในชีวิตประจำวันมายาวนานและไม่ล้าสมัยมาพัฒนาให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและขายในราคาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยหรือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงที่เคยสร้างรายได้จำนวนมากให้ประเทศให้แก่เกาหลีใต้และจีนส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง การพึ่งพาการเติบโตแบบ Inside-out ไม่เพียงพออีกต่อไป ในปลายปี 2555 รัฐบาลญี่ปุ่นที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จึงได้ประกาศนโยบายอาเบะโนมิกส์เป็นยุทธศาสตร์การสร้างความเติบโตแบบยั่งยืนให้ประเทศ

Cool Japan กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตแบบ Outside-in

กลยุทธ์สำคัญหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่ กลยุทธ์Cool Japanที่มีเป้าหมายในการเผยแพร่เนื้อหาและสร้างกระแสความนิยมญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดโอกาสทางธุรกิจจากต่างประเทศโดยมุ่งหวังว่าการส่งเสริมการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมซึ่งต่อยอดจากต้นทุนด้านวัฒนธรรมที่มีอยู่ เช่น เกมส์ การ์ตูนและอนิเมชั่น แฟชั่น อาหาร และการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มการรับรู้และความต้องการบริโภคสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรมและจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ 

มีการกำหนดประเทศเป้าหมายหลักที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ดังกล่าว

หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI)ของญี่ปุ่นโดยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชนให้สามารถพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน สามารถแข่งขันในตลาดสากล ตลอดจนส่งเสริมการขยายกิจการของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นไปต่างประเทศกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา และเทคโนโลยีทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้บุคลากรที่อยากต่อยอดความรู้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและกระทรวงการต่างประเทศที่นำเสนอวัฒนธรรมผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์และการโฆษณาแบรนด์ให้กับประเทศ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีแบรนด์แข็งแกร่งที่สุดในโลกจากการสำรวจความคิดเห็นของกูรูด้านการสร้างแบรนด์ทั่วโลกโดย Future brand

ใช้กลไกการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

กลไกสำคัญหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำมาใช้ในการสร้างสภาวะแวดล้อมเอื้อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก พร้อมกับดึงดูดผู้ร่วมลงทุนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยเพิ่มศักยภาพไปพร้อมกัน ได้แก่ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการจัดตั้งกองทุนCool Japan Fund โดยในเดือนพฤศจิกายน 2556 METI ได้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชนด้วยเงินทุนจัดตั้ง 3.75 หมื่นล้านเยน(3 หมื่นล้านเยนจากรัฐบาลและอีก 7.5 พันล้านเยนจากภาคเอกชน)เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการของญี่ปุ่นของผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านการให้การสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ เช่น สื่อประชาสัมพันธ์และการสร้างเนื้อหา อาหารและบริการ แฟชั่นและสินค้า lifestyle เป็นต้น ตลอดจนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการเองได้ เช่น การสร้างห้างสรรพสินค้าและถนนญี่ปุ่นในต่างประเทศ การทำช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศรายการญี่ปุ่นในประเทศต่างๆนอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนในธุรกิจต่างชาติที่จะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าญี่ปุ่นไปในประเทศต่างๆ ได้ด้วย

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กองทุนได้เติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่า ณ เดือน ก.ย. 2562 มีวงเงินร่วมทุนรวม 8.63 หมื่นล้านเยน (7.56หมื่นล้านเยนจากรัฐบาลและอีก 1.07หมื่นล้านเยนจากภาคเอกชนรายใหญ่ 23 บริษัท) โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสนับสนุนเงินให้แก่ภาคเอกชน 3 ข้อ ได้แก่(1) มีความสอดคล้องกับนโยบาย (2) ความสามารถในการทำกำไรและผลประกอบการ และ (3) มีอิทธิพลในวงกว้างนอกจากนี้ กองทุนยังลงทุนในรูปแบบของการซื้อแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่และโฆษณาสินค้าในต่างประเทศ เช่น การซื้อหุ้น traveloka ที่เป็นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวที่นิยมใช้ทั่วโลกของอินโดนีเซียและแพลตฟอร์มขายไวน์ของจีนเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ความนิยมเหล้าสาเกญี่ปุ่นอีกด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สไตล์ญี่ปุ่นจึงมีความเฉพาะตัวที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการนำความคิดสร้างสรรค์ไปเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาสินค้าเดิมที่มีอยู่ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นและคุณภาพที่ดีมีมาตรฐานไว้ และสร้างเป็นแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

โดย...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

รานี อิฐรัตน์

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง