กระบวนการยุติธรรมเพื่อความไม่ยุติธรรม (3)

กระบวนการยุติธรรมเพื่อความไม่ยุติธรรม (3)

หลักฐานที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มที่จะตื่นตัวในการรณรงค์ให้มีมาตรการคุ้มครองคดี SLAPP

จะเห็นได้จากการศึกษาวิจัย และงานเสวนาในเรื่องนี้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดีเมื่อเดือน พ.ย. 2562 โดยมีขอบเขตของการศึกษาอยู่ที่การฟ้องคดีเพื่อคุกคามการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ทำให้ลักษณะของคดีที่จะอยู่ในขอบข่ายของการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นคดีที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง 

จากแหล่งข้อมูลที่สามารถรวบรวมได้ตั้งแต่ปี 2540 ถึงวันที่ 31 พ.ค.2562 พบว่ามีคดี SLAPP จำนวน 212 คดี เป็นคดีอาญาถึง 196 คดี(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นประมาท, พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามลำดับ) และคดีแพ่งอีก 7 คดี (โดยเป็นคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและคดีละเมิด) และพบกว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องคดี SLAPP ส่วนมากคือกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาจะเป็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง สื่อมวลชวน และอาจารย์มหาวิทยาลัยตามลำดับ (ที่มา: https://freedom.ilaw.or.th/blog/SLAPPreport) จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักจะเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่อาจจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่ใช้ในการต่อสู้คดี SLAPP

ในปัจจุบันกฎหมายไทย มีมาตรการที่สามารถนำมาใช้จัดการกับคดีSLAPP ได้บ้าง เช่น กรณีของคดีอาญา เริ่มต้นตั้งแต่ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนสามารถทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องได้ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้ต้องหา ต่อมาในชั้นสั่งคดี พนักงานอัยการก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องได้หากเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย หรือคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการฟ้องคดี SLAPP มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อ มี.ค.2562 โดยศาลสามารถจะสั่งยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอีกได้หากเป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์และศาลเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบซึ่งขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.2562 จึงยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ก็ยังมีกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องที่เปิดโอกาสให้จำเลยแถลงข้อเท็จจริงหรือนำเสนอหลักฐานต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งว่าคดีไม่มีมูลได้

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้วขั้นตอนเหล่านี้อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดี SLAPP เท่าไหร่นัก เพราะยิ่งมีหลายขั้นตอน ยิ่งมีความยืดเยื้อเท่าไหร่ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยิ่งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์หนึ่งที่โจทก์ใช้ในการฟ้องคดี SLAPP คือการฟ้องคดีต่อศาลที่ไกลจากภูมิลำเนาของจำเลย เช่น กรณีการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางออนไลน์ ซึ่งมีการตีความว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นทุกที่ที่ข้อความหมิ่นประมาทปรากฏ จึงเปิดโอกาสให้โจทก์เลือกฟ้องคดีที่ศาลในเขตใดก็ได้ อีกทั้งมาตรการในปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายให้กับจำเลยโดยอัตโนมัติ จำเลยจะต้องไปดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแยกต่างหากเองอีกคดีหนึ่ง

แม้ว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคดี SLAPP ได้อย่างเพียงพอ แต่การที่ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจนกระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดี

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

Purita.Thanachoksopon@allenovery.com