'บ้านอัจฉริยะ' และ 'เมืองอัจฉริยะ' สู่สังคมที่ดีขึ้น
บ้านอัจฉริยะ มีมากกว่าการมีอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวนมากมาเชื่อมต่อ แต่น่าจะหมายถึงทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร
ในชีวิตประจำวัน ผมใช้อุปกรณ์อัจฉริยะ หรือที่เรียกกันว่า ‘ไอโอที’ (Internet of Thing) อยู่หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา และอุปกรณ์วัดข้อมูลสุขภาพ ทีวีอัจฉริยะ กล้องอัจฉริยะ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มีความสามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหว รวมถึงประตูบ้าน หลอดไฟที่ควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตได้ มีกระทั่งเครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดันอัจฉริยะ ตลอดจนหม้อหุงข้าว กาต้มน้ำร้อน และเครื่องฟอกอากาศอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ยังมีลำโพงอุปกรณ์ที่สั่งงานด้วยเสียงอีกหลายตัว Google Assistant และ Amazon Echo อุปกรณ์เหล่านี้ เชื่อมต่อกันสามารถสั่งงานระหว่างกันได้ และจะส่งข้อมูลต่างๆ ไปเก็บบนคลาวด์ แต่มักถูกถามบ่อยๆ ว่า “ใช้ทำอะไร” เช่น หม้อหุงข้าวอัจฉริยะที่สั่งงานเปิดปิดผ่านมือถือได้ ตั้งเวลาหุงข้าว แจ้งเตือนเมื่อหุงเสร็จ ฟังก์ชันต่างๆ สามารถทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่นกันกับหลอดไฟอัจฉริยะที่สามารถตั้งเวลาเปิดปิด สั่งให้เปิดเมื่อประตูห้องเปิด เปลี่ยนสีได้ เราใช้บ่อยแค่ไหน ซึ่งก็จริง คือ อุปกรณ์หลายชิ้นเป็นเพียงการสร้างสีสันเล็กๆ น้อยๆ หลังใช้สักระยะหนึ่ง ก็ไม่ได้ใช้ฟังก์ชันอัจฉริยะอีกเลย แต่หันกลับไปใช้ในรูปแบบธรรมดาเหมือนเดิม
แต่ต้องยอมรับว่า อุปกรณ์หลายอย่างมีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทำให้เฝ้าระวังเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น มีการตรวจเคลื่อนไหวรอบๆ บ้าน ตรวจจับการเปิดปิดประตูต่างๆ
การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะสร้างความสะดวกสบายอีกประการ คือ สั่งงานเปิดปิดอุปกรณ์ด้วยเสียง สามารถตั้งเวลาล่วงหน้าได้ ที่สำคัญยังมีประโยชน์เรื่องข้อมูลสุขภาพ ทั้งการติดตามเรื่องของความดัน ชีพจร น้ำหนัก การออกกำลังกาย ตลอดจนการนอนว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บบันทึกไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ หรือล่าสุดเรื่องเครื่องฟอกอากาศที่สามารถตั้งให้เปิดปิดเป็นเวลา หรือเปิดปิดตามค่า PM 2.5 ที่วัดได้
ความหมายของบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) น่าจะมีมากกว่าการที่มีอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวนมากมาเชื่อมต่อ แต่น่าจะหมายถึงทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร สุขภาพที่ดีขึ้นเพียงใด บ้านที่อยู่มีความสุขมีความอบอุ่นขึ้นเพียงใด ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้ข้อมูลที่ดีขึ้นมีความฉลาดขึ้นเพียงใด การที่เรามีอุปกรณ์อัจฉริยะเชื่อมต่อในบ้านจำนวนมาก แล้วส่งข้อมูลกลับขึ้นบนคลาวด์ อาจไม่ได้หมายถึงความเป็นบ้านอัจฉริยะ ยิ่งถ้าต้องมากังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล หรือความเป็นส่วนตัวที่อาจสูญเสียไปจากการที่บุคคลอื่นสามารถมาดูข้อมูลเราได้
เช่นกันในปัจจุบัน เรากำลังพูดถึง ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีแผนติดตั้ง 5จี การติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะมากมาย ทั้งกล้อง ซีซีทีวี ทั้งระบบสัญญาณจราจร ซึ่งอนาคตอาจเห็นข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงกันหมด เช่น ในจีนบางเมืองสามารถทราบได้แม้กระทั่งว่าบุคคลที่เดินอยู่เป็นใคร มีจำนวนรถบนถนนมากน้อยเพียงใด แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ความเป็นเมืองอัจฉริยะจะสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างไร
ผมมีโอกาสเข้าไปศึกษาเรื่องดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ทาง Institute for Information Industry ของไต้หวันทำขึ้น แล้วได้ทราบว่า การวัดความเป็นอัจฉริยะของเมือง ไม่ได้พิจารณาแค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่ดัชนีชี้วัดจะมี 4 มิติ คือ
1.ด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งพิจารณาหลายๆ เรื่องตั้งแต่ การเข้าถึงเทคโนโลยี ความหนาแน่นประชากร การเข้าใช้บริการด้านสุขภาพ ตลอดจนการวัดความพึงพอใจในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา และบริการด้านต่างๆ
2.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่พิจารณาเรื่องการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงเทคโนโลยี 4จี โครงข่ายด้านไฟฟ้า การให้บริการรถสาธารณะ การใช้โซเชียลมีเดีย ตลอดจนถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.ด้านการให้บริการภาครัฐ ที่พิจารณาในด้านบริการต่างๆ ที่ให้กับประชาชนผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต การนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ความโปร่งใสของภาครัฐ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารวิบัติภัยต่างๆ
4.ด้านเศรษฐกิจ ที่พิจารณาจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ พิจารณารายได้ที่เติบโตขึ้น การจ้างงานและทักษะของบุคลากร รวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ
จะเห็นว่าทั้งบ้านอัจฉริยะหรือเมืองอัจฉริยะสิ่งที่สำคัญสุด คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสร้างรายได้ที่มากขึ้น และการสร้างสังคมให้มีความฉลาดมากขึ้น มากกว่าการหาเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้งาน