เอาจริง! ฟันทิ้งกินหัวคิว โรงไฟฟ้าชุมชน
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(ทีโออาร์) เพื่อคัดเลือกโครงการฯ
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(ทีโออาร์) เพื่อคัดเลือกโครงการฯ และเตรียมประกาศเปิดยื่นเสนอโครงการฯภายในเดือน ก.พ.นี้ กลายเป็นขนมหวานของคนบางกลุ่ม และแอบอ้างว่ามีความใกล้ชิดกับผู้เป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาลชุดนี้ เที่ยวไปเร่เสนอกินหัวคิว หากใครอยากได้โครงการจะมีโควตาแบ่งให้ 50-100 เมกะวัตต์
ร่ำลือกันว่า ต้องจ่ายเมกะวัตต์ละ 1-5 ล้านบาท จนเรื่องดังเข้าถึงหูหัวเรือใหญ่กระทรวงพลังงาน “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังงานประชารัฐ จึงไม่รอช้าใช้จังหวะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในต่างจังหวัด ทั้งภาคใต้ และภาคอีสาน ประกาศชัดเจน
“ใครถูกขูดรีด เรียกให้จ่ายเงินเพื่อแลกกับการจะได้โครงการให้มาบอกผม หากมีหลักฐาน ไม่เอาไว้ จะสั่งปลดออกจากตำแหน่งทุกคน และหากโครงการไหนถูกร้องเรียนแล้วพบผิดจริง จะตัดสิทธิ์ทันที พร้อมกับให้ ใบดำ”
นับว่า เป็นความกล้าหาญของสนธิรัตน์ ที่เร่งรีบออกมาส่งสัญญาณเอาจริง ฟันทิ้ง สกัดความไม่โปร่งใสตั้งแต่ยังไม่เปิดให้ยื่นเสนอโครงการฯ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกครั้งที่มีการเปิดโครงการฯรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบของภาครัฐตั้งแต่โครงการขนาดเล็กไปถึงโครงการขนาดใหญ่ ทั้ง VSPP ,SPP และ IPP ก็มักจะมีกระแสข่าวการจัดสรรโควตา วิ่งเต้นล็อบบี้โครงการออกมาเป็นระยะ ทำให้ภาพของธุรกิจพลังงานในอดีตกลายเป็นขนมเค้กของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
กระนั้น การส่งสัญญาณ เชือด!กลุ่มคนหวังกินหัวคิว อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะหากโครงการฯนี้ จะเกิดขึ้นได้จริง และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการยกระดับรายได้ของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากนั้น ทุกขั้นตอนก็ต้องโปร่งใส และเป็นธรรมด้วย
เริ่มตั้งแต่กระบวนการร่าง “ทีโออาร์” คัดเลือกโครงการฯ ที่ต้องออกแบบให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ และคัดเลือกโครงการก็ต้องกลั่นกรองให้ตรงตามสเปกที่วางไว้ ยึดมั่นในหลักการพิจารณาคะแนน ตามที่นายสนธิรัตน์ ระบุ คือ จะให้น้ำหนัก การเสนอผลประโยชน์ตอบแทนต่อชุมชน สูงถึง 60 คะแนน
ดังนั้น ผู้เขียนโครงการฯมายื่นเสนอ ก็ควรมีคุณสบบัติครบถ้วนตามกติกาที่รัฐระบุไว้ด้วย และหากจะให้ดี การตัดสินผู้ได้รับคัดเลือกให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนในแต่ละพื้นที่ รัฐเองก็ควรจะเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาคะแนนให้ภาคประชาชนทั่วไปได้รับทราบ จะได้ไม่มีข้อสงสัยคาใจทั้ง “ผู้ได้รับและผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกโครงการฯ” เพื่อป้องกันข้อครหาที่อาจย้อนกลับมาในภายหลัง
ขณะที่หลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่สนธิรัตน์ บอกว่า ขณะนี้มีเพียงแค่ 3-4 คน คือ รัฐมนตรีพลังงาน ปลัดพลังงาน อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และ ลูกน้องอธิบดีเท่านั้น ที่ใช้เวลาจัดทำหลักเกณฑ์ฯ ล่าช้าร่วมกันมา 2 เดือน เพื่อให้โครงการนี้ รัดกุม รอบคอบ และโปร่งใส่ที่สุดก็หวังว่า เมื่อคลอดเกณฑ์ฯออกมาแล้ว จะไม่ทำให้ผู้สนใจต้องผิดหวัง
ขณะเดียวกัน หากโครงการฯนี้ สำเร็จ ติดตั้งกำลังผลิตไฟฟ้าครบ 700 เมกะวัตต์ และเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากราว 1 แสนล้านบาทได้จริง ก็จะนับเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่พิสูจน์ฝีมือท่านรัฐมนตรีพลังงาน"