ข้อสังเกตเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยอาจเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินสำหรับบุคคลทั่วไป แต่อาจคุ้นเคยกับการจัดเก็บค่ากำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล กทม.หรือเมืองพัทยา
ในทางหลักการแล้วค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย (Solid waste fee) หมายถึง เงินที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายบังคับจัดเก็บจากประชาชนเนื่องจากการใช้การบริการสาธารณะในการจัดการหรือกำจัดขยะมูลฝอย
ปัจจุบัน ไทยมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยจากการทิ้งเทสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ซึ่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 กำหนดคำ “สิ่งปฏิกูล” หมายความว่า อุจจาระหรือปัสสาวะ และหมายรวมถึงสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งโสโครกหรือมีกลิ่นเหม็น ส่วน “มูลฝอย” หมายความว่า เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น และหมายความรวมถึงมูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน
กฎหมายฉบับเดียวกันยังให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสะอาดและจัดระเบียบในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลอื่นที่ราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการแทน ในอัตราไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะตราข้อบัญญัติ อปท. เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายจัดตั้งอปท.กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตบางประการต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยตามที่ปรากฏในข้อบัญญัติ อปท. เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย กล่าวคือ หากพิจารณาบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายข้อบัญญัติ อปท. เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย จะพบว่ามีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยตามปริมาณจำนวนลิตร ลูกบาศก์เมตรหรือกิโลกรัมโดยมีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันของสิ่งปฏิกูล มูลฝอยทั่วไปและฝอยติดเชื้อ ซึ่งผู้ทิ้งเทขยะมูลฝอยมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน รายหน่วยหรือรายครั้งแล้วแต่กรณี
ตัวอย่าง ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไปเป็นรายเดือน 1) กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร อัตราค่าธรรมเนียมเดือนละ 65 บาท 2) กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500 ลิตร ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 20 ลิตรในอัตราต่อหน่วย อัตราค่าธรรมเนียมหน่วยละ 65 บาท 3) กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อัตราค่าธรรมเนียมเดือนละ 3,250 บาท และ 4) กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 1 ลบ.ม. ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลบ.ม. ในอัตราต่อหน่วย อัตราค่าธรรมเนียมหน่วยละ 3,250 บาท เป็นต้น
หากพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยของต่างประเทศดังเช่นเมือง Otter Tail ในรัฐ Minnesota ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่า มีรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยที่เหมือนและแตกต่างจากประเทศไทย กล่าวคือ มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยตามปริมาณจำนวนลิตร ลูกบาศก์เมตรหรือกิโลกรัมโดยมีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันตามประเภทของขยะมูลฝอยเหมือนกับของไทย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่มีการกำหนดประเภทของขยะมูลฝอยที่มีความหลากหลายมากกว่า
ขยะมูลฝอยนอกจากหมายถึงขยะมูลฝอยตามความหมายดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ขยะมูลฝอยยังถูกจำแนกประเภทออกเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะแบตเตอรี่ ขยะยางรถยนต์ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและขยะทั่วไป ซึ่งขยะแต่ละประเภทดังกล่าวข้างต้นจะมีอัตราค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันไป (Solid waste fee schedule) เช่น กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นเครื่องไมโครเวฟหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อัตราค่าธรรมเนียมหน่วยละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ โทรทัศน์ขนาด 27 นิ้วขึ้นไป อัตราค่าธรรมเนียมหน่วยละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยตามประเภทของขยะมูลฝอยที่มีความหลากหลายส่งผลกระทบต่อการชำระค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยของประชาชนและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายประการ ข้อหนึ่งคือประชาชนจะต้องศึกษาอัตราค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยที่มีความแตกต่างกันเพื่อทำให้ตนเองปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องครบถ้วนด้วย ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยในกรณีนี้คือ การสะท้อนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการจัดการหรือการกำจัดขยะมูลฝอย โดยให้ผู้ทิ้งเทขยะมูลฝอยเป็นผู้รับผิดชอบ
ดังนั้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยจึงมิใช่เรื่องไกลตัวของประชาชนอีกต่อไป เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนเราในปัจจุบันก่อให้เกิดขยะมูลฝอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดขยะมูลฝอยแล้ว ผู้ทิ้งเทขยะมูลฝอยต้องเป็นผู้รับผิดชอบลำดับแรก ซึ่งผู้ทิ้งเทขยะมูลฝอยได้มอบหมายหน้าที่ดังกล่าวให้แก่หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแทน โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมการจัดการขยะมูลฝอยตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมฯ มีความหลากหลายแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าจะสามารถสะท้อนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการจัดการหรือการกำจัดขยะมูลฝอยได้ดียิ่งขึ้น.
โดย...
ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์