โปรแกรม mindset ให้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่
เมื่อความรู้เก่าตกยุค ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ถ้าไม่ทิ้งของเก่าออกไปบ้าง (unlearn) จะเอาพื้นที่ในสมองส่วนไหนไปเรียนรู้สิ่งใหม่ (relearn)
เมื่อสมองของคนวัย 20+ เติบโตเต็มที่จนไม่มีเซลสมองใหม่ๆให้ขยายตัวอีกแล้ว ธรรมชาติของสมองจึงมักจะนำความรู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้ออกไปที่เราเรียกว่า “ลืม” เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับสิ่งใหม่ในแต่ละวัน เพราะความรู้เดิมที่เราใช้อยู่ทุกวันมันไม่ลืมแต่ล้าสมัย จึงไม่มีพื้นที่ให้กับความรู้ใหม่มาเติม
mindset ของคนจึงต้องเปลี่ยน ด้วยการทิ้งความรู้เดิมก่อนเพิ่มเติมด้วยความรู้ใหม่ เหมือนตู้เสื้อผ้าในบ้าน เมื่อใดที่เราต้องการชุดใหม่ เราต้องพร้อมทิ้งเสื้อผ้าเก่าออกไป เมื่อเปลี่ยนตัวเองได้ ก็ย่อมเปลี่ยนองค์กรได้
ด้านการแข่งขัน (Competition) เริ่มต้นจากการปฏิเสธรูปแบบและวิธีการทำธุรกิจจากเดิมที่เป็นการแข่งขันในพื้นที่จำกัด และมีคู่แข่งน้อยรายที่มีขนาดและความสามารถไม่แตกต่างกันมาก (Local/regional Smaller competitors) มาเน้นมาตรฐานสินค้าและบริการในระดับ Local สู่ National และ Global ในโลกไร้พรมแดน (Globalization) แล้วค่อยเสริมเติมด้วยคุณค่าของความเป็นพื้นถิ่นในแบบเอเชียผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีและความทันสมัยของโลก ที่เรียกว่า Glocalization (Global + Local) นั่นคือต้องมีคุณภาพ ผลิตภาพ และมาตรฐานในระดับสากลแต่มีความเป็นตัวตนและสะท้อนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ
ด้านลูกค้า (Customer) จากอดีตที่ให้ความเชื่อมั่นกับสินค้าที่มาจากประเทศพัฒนาแล้วพร้อมตรารับรองอย่าง made in USA จนมาถึงยุคที่โครงสร้างและระบบการผลิตกระจายตัวในลักษณะ Supply chain ที่มีแหล่งวัตถุดิบและการประกอบชิ้นส่วนย่อยจากหลากหลายประเทศ ก่อนที่จะส่งมารวมกันในอีกประเทศหนึ่ง คำว่า made by หรือ designed by จึงเข้ามาแทนที่สินค้าแบรนด์ชั้นนำไม่ได้หมายความว่าผลิตและประกอบจากประเทศเจ้าของแบรนด์อีกต่อไป หากแต่มีการผลิตและประกอบในหลากหลายแหล่งโดยมีระบบการผลิตที่มีมาตรฐานสากล (standard) แต่คุณลักษณะสินค้าตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ (Customization) เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์หรือกำหนดสเปคของสินค้า (Co-creation) โดยปรับแต่งให้สอดรับกับการใช้งานของแต่ละคนได้
ด้านกระบวนการ (Processes) จากเดิมที่เน้นทักษะความสามารถเฉพาะอย่างและความชำนาญเฉพาะด้าน โดยแบ่งโครงสร้างการผลิตเป็นแผนก/ฝ่าย (functional focus / heavily manual) และเพิ่มเติมระบบบริหารจัดการเพื่อสร้างสมดุลและดึงเอาศักยภาพและความสามารถของแต่และฝ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน มาจนถึงยุคปัจจุบันที่บริบทและสภาพแวดล้อมขององค์กรยุคใหม่ไม่ได้ยึดติดกับคำว่าแผนก/ฝ่ายแล้ว หากแต่เน้นที่โครงการ (project-based) และวัตถุประสงค์ของงานนั้นๆ โดยคนที่เข้าร่วมจากแผนก/ฝ่ายที่แตกต่างกันจะฟังผู้บริหารโครงการหรือผู้นำทีม (Team leader) เป็นหลัก เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบข้ามสายงาน และข้ามวัฒนธรรม (Cross function / cross cultural)
ด้านเทคโนโลยี (Technology) จากการรวมศูนย์ของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในอดีต สู่ยุคกลางที่แต่ละคนทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal computer) ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งโต๊ะหรือพกพา (Desktop or Laptop) และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งภายใน (Local Area Network – LAN) และเชื่อมสู่ภายนอกผ่าน (Wide Area Network – WAN) ในยุคปัจจุบันพื้นที่ทำงานก็ไม่ได้จำกัดหรือขีดวงอยู่ในสำนักงานหรือโรงงานเท่านั้น หากแต่อยู่ได้ทุกที่และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ตลอดเวลา คำว่า Anywhere anytime และตามมาด้วย any devices เพราะในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีไม่ได้ขีดวงอยู่แค่คำว่า computer อีกต่อไป หากแต่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ผ่าน Internet และจัดเก็บข้อมูลใน Cloud
สุดท้ายคือบุคลากรหรือคนทำงาน (Workforce) ปฏิเสธการทำงานที่มีคน 2 กลุ่มคือ แรงงานไร้ฝีมือ (unskilled worker) และ (Skilled worker) ปรับเข้าสู่การทำงานที่คนทำงานต้องมีทักษะความสามารถมากกว่าหนึ่งอย่าง (multi-skilled worker) โดยคนส่วนใหญ่ในองค์กรต้องทำงานผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทักษะเดิมๆจึงเปลี่ยนไป ทักษะหลายอย่างตกยุคล้าสมัยหรือแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทักษะใหม่ในการควบคุมสั่งการระบบที่ทันสมัยประกอบเข้ากับการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจให้พร้อมรับมือกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างหลากหลายมีมากขึ้น Knowledge worker จึงเป็นคุณสมบัติของคนกลุ่มใหม่ที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ
Digital Literacy หรือความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ผสานเข้ากับการรู้จักและเข้าใจในการใช้สื่อ (media literacy) การรู้จักเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลายและใช้งานได้ (technology literacy) การแยกแยะและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ (information literacy) การคิดวิเคราะห์สื่อสัญลักษณ์ที่มองเห็น (visual literacy) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิผล (communication literacy) และการเท่าทันทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคม (Social literacy)
โดยความรู้ความสามารถที่จำเป็นและต้องการในแต่ละองค์กรนี้ จะนำไปกำหนดให้เป็นความสามารถใหม่ (Competency) ในระบบพัฒนาสมรรถนะเชิงพฤติกรรม (performance-based HRM) เพื่อก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค และเอาชนะกับความท้าทายใหม่ในอนาคต ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้อง (Classroom) อีกต่อไป หากแต่เกิดขึ้นได้ผ่านการสร้างชุดความคิดใหม่ในการเรียนรู้ให้เป็น Life-long learning องค์กรมีหน้าที่เพียงส่งเสริม สนับสนุน และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลรองรับไว้เท่านั้น