'กรรมธนาธร ยังไม่จบ!'
แม้จะถูกยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมือง ที่มิใช่แค่การห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น
แต่หมายถึงสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง การเป็นผู้ก่อตั้งพรรคใหม่ และการเป็นผู้บงการพรรค ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำอนาคตใหม่ ไปแล้ว แต่วิบากกรรมของธนาธร ยังไม่จบ
ธนาธร จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาในหลายกรณี และหลายข้อหา ทั้งการแจ้งความเท็จในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อ 6 ก.พ. 2562 ที่รู้ว่าคุณสมบัติตนขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ห้ามเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ
แม้ว่าธนาธรจะปฏิเสธ แต่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติว่าเขาขาดคุณสมบัติ ย่อมผูกพันกับทุกองค์กร ในการดำเนินคดีอาญากับเขาต่อ นั่นหมายถึงผูกพันกับ กกต. ที่ต้องตั้งเรื่องเพื่อฟ้องต่อศาลอาญาเอาผิดธนาธรต่อไป
เช่นเดียวกับกรณีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นี่คือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท หากรวมกับเงินที่บริจาคอีก 8.5 ล้านบาทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2562 ปีเดียวกับที่ธนาธรปล่อยกู้ให้อดีตพรรคอนาคตใหม่แล้ว จะให้ประโยชน์อื่น มารวมเงินบริจาคทั้งสิ้น 199.7 ล้านบาท เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ห้ามเกินกว่าปีละ 10 ล้านบาทถึง 189.7 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในการให้เงินบริจาคและประโยชน์อื่นใด ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากคดีอาญาแล้ว จะโดนคดีแพ่งในการริบทรัพย์สินส่วนเกินที่กฎหมายกำหนดจำนวน 189.7 ล้านบาท เข้ากองทุนพัฒนาการเมือง ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนโทษในคดีอาญา ทั้งสองกรณีมีอัตราระวางโทษสูงสุดรวมกันถึง 20 ปี และยังมีวิบากกรรมสำหรับพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่แทนอนาคตใหม่ หากธนาธร และอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว บงการพรรคการเมืองใหม่ ด้วยการยุบพรรคซ้ำ
เล่าวิบากกรรมทั้งหมดให้รับรู้ เพื่อให้ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการยุบพรรค หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รู้ข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่ธนาธรและอนาคตใหม่ กำลังเผชิญต่อไป คือการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีอยู่ก่อน และธนาธรกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ก็รับรู้-ยอมรับกติกานี้ จึงได้ลงสนามการเมืองในกติกานี้ เมื่อบ้านเมืองมีกติกามาก่อน การทำผิดกติกา ก็ต้องถือว่าเป็นผู้กระทำผิด มิได้มีผู้ใดมากลั่นแกล้ง
การใช้คำว่าเกิดความอยุติธรรมในการเคลื่อนไหว จึงเป็นการใช้ “วาทกรรม”ที่ไม่ถูกต้อง หากนักศึกษาซึ่งถือเป็นพลังบริสุทธิ์ ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ ควรศึกษาและเข้าใจให้ถ่องแท้ ไม่ควรเคลื่อนไหวเพราะความรู้สึก “ชอบ” หรือ ”ไม่ชอบ” เพราะสังคมจะอยู่กันได้ด้วยการเคารพกติกา ที่บังคับใช้เสมอกัน ไม่ควรมีข้อยกเว้นให้กับใคร แม้กระทั่งคนที่เราชื่นชอบ
ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลต้องไม่มองแบบ “อำนาจนิยม” ว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง นักศึกษาซึ่งต้องถือว่าเป็นพลังที่บริสุทธิ์ มาเคลื่อนไหวเพราะความเข้าใจผิด หรือความ ”เบื่อ” ผู้นำที่ครองอำนาจมานานก็เป็นได้
หน้าที่ของคนเป็นรัฐบาลมีอย่างเดียว ต้องทำความเข้าใจ อย่ามองนักศึกษาเป็นศัตรู เหมือนผู้มีอำนาจบางคนในรัฐบาลกำลังมอง เพราะถ้าคิดเช่นนั้น รัฐบาลก็นับถอยหลังได้เลย...