การกำกับดูแลความปลอดภัยของโครงข่ายด้านการขนส่งโดยระบบอัจฉริย
เอเชียเป็นหนึ่งในทวีปที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำระบบการขนส่งทางทะเลมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยโบราณ ทะเลเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดไม่เพียงแต่สำหรับสินค้าแต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วทั้งทวีป รวมทั้งยังเป็นเส้นทางขยายอำนาจของเจ้าอาณานิคม ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลเหนือรัฐต่างๆ ในเอเชียโดยผ่านกองกำลังทหารเรือ และในยุคโลกาภิวัตน์เช่นปัจจุบัน รูปแบบการขนส่งในเชิงพาณิชย์ได้พลิกโฉมไปอย่างมากด้วยปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้การขนถ่ายสินค้าไปยังปลายทางเป็นไปอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว
ปัจจุบัน ไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทางเลือกหนึ่งของระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้แก่การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยลดบทบาทการทำงานของแรงงานคนลง
การขนส่งวิธีนี้มีความสะดวก รวดเร็ว สามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งประเภทอื่นได้อย่างต่อเนื่อง สามารถจัดการขนส่งสินค้าได้ในปริมาณคราวละมากๆ และลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดของการทำงานของมนุษย์ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและหุ่นยนต์ เรือเดินทะเลไร้คนขับเพื่อการขนส่ง รวมถึงท่าเรืออัจฉริยะได้ถูกสร้างขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย การป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Critical Infrastructure) ดังเช่นด้านการขนส่งทางน้ำ ซึ่งรัฐมิได้ควบคุมด้วยตนเองจำต้องมีนโยบายและความชัดเจนทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแล (Market Force Regulation)
เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในยุคดิจิทัล ล้วนเชื่อมต่อออนไลน์และเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากระบบไซเบอร์เทคโนโลยี การพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถรับมือภัยคุกคามจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ภาคเอกชนซึ่งจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากภัยคุกคามต่อสังคมเกิดขึ้นผ่านช่องทางการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะย่อมมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางออนไลน์หลายเท่าตัว
อีกหนึ่งช่องทางในการกำกับดูแลที่อาจทำได้คือการออก Smart Legal Regulation เพื่อเป็นแนวทางให้การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งอัจฉริยะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวทั้งในระดับประเทศ และระดับสากลผ่านกลไกกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมด้วยบทลงโทษและสภาพบังคับทางกฎหมาย
แม้ว่าหลายประเทศจะได้พยายามพัฒนากฎหมายและนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างปลอดภัยจากประเด็นความมั่นคงและความเป็นส่วนตัว (Security and Privacy) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายจากข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายจำนวนมากอันอาจเกิดขึ้นจากการใช้งานระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะดังกล่าว เช่น เมื่อพิจารณา The Budapest Convention on Cybercrime และ A Digital Geneva Convention การกำหนดคำจำกัดความอย่างกว้างและกรอบกฎหมายที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับความรับผิดเพื่อให้บริการการขนส่งในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาในทางกฎหมาย
หลายประเทศในทวีปเอเชียรวมถึงไทย ความกดดันเพื่อให้มีการควบคุมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เข้มงวดยิ่งขึ้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น ผ่านมาตรการทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2562 โดยเฉพาะจากประเด็นทางกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งกำกับดูแลจะต้องประสานงานข้ามพรมแดนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพื่อพิจารณาแนวโน้มและหาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่สามารถบังคับใช้ได้ในระดับสากลมากขึ้น วัฒนธรรมและบรรทัดฐานที่แตกต่างกันสร้างฉันทามติในการใช้งานระบบไซเบอร์เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งอันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แม้ว่าแต่ละประเทศซึ่งอาศัยเทคโนโลยีนี้ในการควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งจะมีกฎหมายเฉพาะของตนเอง (Domestic Law) แต่ยังขาดการปฏิบัติที่ชัดเจนและการกำหนดบทลงโทษภายใต้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันในเวทีระดับสากลอันควรได้รับการแก้ไขเพื่อจัดการกรอบกฎหมายและนโยบายสาธารณะเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานเอกชนได้รับสิทธิและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงตามกฎหมายโดยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ควบคุมกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว
ขณะเดียวกัน การแก้ไขข้อพิพาทต่อประเด็นดังกล่าวอาจทำได้โดยการรวมกฎระเบียบระหว่างประเทศในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องแต่กระจัดกระจายกันอยู่ เช่น กฎหมายทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในโลกไซเบอร์ โดยมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อน เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างมาตรฐานในความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้สอดรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยีและความหลากหลายของการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเภท
รวมถึงกิจกรรมซึ่งดำเนินการผ่านระบบไซเบอร์เทคโนโลยีเพื่อการขนส่งควรได้รับอนุญาตและควบคุมมาตรฐานโดยหน่วยงานเดียว เช่นโดยสหประชาชาติ (United Nation) นอกจากนี้แต่ละประเทศควรปฏิรูปนโยบายสาธารณะและกฎหมายภายในประเทศในเวลาเดียวกัน
ในการสร้างกรอบกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐานและกระบวนการระดับชาติ รวมทั้งต่อภาคเอกชนและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ในท้ายที่สุด ข้อตกลงระหว่างประเทศ กลไกทางกฎหมายใหม่ หน่วยงานใหม่ และบรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อได้รับการยอมรับจากแต่ละรัฐนำไปปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันย่อมประกันความปลอดภัย ความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวจากการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเพื่อการขนส่งบนระบบไซเบอร์เทคโนโลยีได้อย่างไร้ข้อกังวล
โดย...
ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์