จัดการการเงินยามสถานกาณ์ฉุกเฉิน
แม้เราจะวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่บางครั้งสถานการณ์ก็ไม่เป็นใจ เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
วิธีการจัดการทางการเงิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน การจัดการการเงินในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือบุคคล หากเป็นบุคคล ต้องปรับตัว จัดการให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปให้ได้ หากเป็นธุรกิจ ก็ต้องประคองให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยมีหลักการคล้ายๆกัน ดังนี้
1.ประหยัด : การประหยัดคือการใช้น้อยลง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แนะนำให้ไล่เรียงดูค่าใช้จ่ายแต่ละรายการว่า มีอะไรที่สามารถจะลดได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน หรือต่อชีวิตความเป็นอยู่มากนัก ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
สำหรับบุคคลนั้น สามารถลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย ลดความบันเทิง และลดการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น หลายคนอาจจะบอกว่าทำไม่ได้ ทำยาก แต่เชื่อไหมคะว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การประหยัดคือสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดแล้วค่ะ
2. ลดต้นทุน : สำหรับธุรกิจ จำเป็นต้องลดต้นทุน หาทางดูว่าจะลดต้นทุนอะไรได้บ้าง ทั้งต้นทุนผลิต ต้นทุนบริการ ต้นทุนทางการเงิน ฯลฯ ข้อควรระวังคือ การลดต้นทุนนี้ ต้องไม่กระทบถึงคุณภาพ เพราะหากกระทบถึงคุณภาพ จะมีผลเสียหายในระยะยาว ซึ่งอาจจะสาหัสกว่าวิกฤติเล็กๆนี้ เนื่องจากจะทำให้เสียลูกค้า และธุรกิจอาจจะถึงกับอยู่ไม่ได้
กล่าวสั้นๆคือ ตัดไขมันออกได้ แต่ต้องไม่ตัดกล้ามเนื้อค่ะ เพราะธุรกิจต้องดำเนินต่อไป
หลายครั้งที่การลดต้นทุนบางอย่างเป็นสิ่งที่เรามองข้าม เช่น ในสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 การเจรจาชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินสด สามารถขอส่วนลดจากผู้ขายที่ต้องการสภาพคล่องได้ถึง 5 ถึง 10% เลยทีเดียว ปัจจุบันอาจจะไม่ได้สูงเท่านั้น แต่สามารถทดลองเจรจาได้
นอกจากนี้ การพยายามลดรายจ่ายคงที่ เช่น ขอลดค่าเช่า หรือลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือน โดยการให้พนักงานสลับกันหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง หรือผู้บริหารเสียสละลดเงินเดือนตัวเอง ก็เป็นวิธีการในการลดต้นทุนอย่างหนึ่ง เพราะต้นทุนคงที่ คือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไม่ว่าเราจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม ต้องลองเจรจาดูค่ะ คู่ค้าหรือพนักงาน อาจเห็นใจและช่วยเหลือได้ หากเราเป็นคู่ค้า หรือนายจ้างที่ดี ดังที่มีหลายธุรกิจ เริ่มดำเนินการกัน เช่น สายการบิน ค้าปลีก เป็นต้น
การลดต้นทุน ไม่ได้หมายถึงต้องหยุดลงทุน ตรงกันข้าม ผู้บริหารต้องไม่หยุดที่จะมองหาและนำเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือมาลดต้นทุน หรือค่าใช้จ่าย มาใช้ในระยะต่อไปด้วยด้วย
สำหรับบุคคล สิ่งที่เปรียบเสมือนการลดต้นทุน คือการบริโภคสิ่งที่จำเป็นให้น้อยลง หรือทดแทนด้วยสิ่งที่มีราคาต่ำกว่า เช่น เคยใช้ของนำเข้า หรือแบรนด์เนม ราคาสูง ก็เปลี่ยนมาใช้ของที่ผลิตในประเทศ ที่มีราคาต่ำกว่า หรือรอซื้อในช่วงลดราคา เป็นต้น แต่ก็ต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง เช่น อดอาหาร รับประทานแต่บะหมี่สำเร็จรูป เพราะถ้าเราขาดอาหาร ไม่แข็งแรงแล้วโรคภัยไข้เจ็บตามมา จะยิ่งเดือดร้อนกันไปใหญ่
3.หารายได้เพิ่ม : อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในบรรดาหลักการทั้งหมด เพราะยามสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดโดยไม่คาดฝัน เกิดความยากลำบากนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดในวงกว้าง เกิดกับเศรษฐกิจทั่วไปทั้งเมือง ทั้งประเทศ ทั้งภูมิภาค หรืออาจจะทั้งโลก ซึ่งเมื่อเกิดในวงกว้าง ก็อาจจะทำให้การหารายได้เพิ่มเป็นเรื่องลำบาก เพราะคนอื่นย่อมต้องลำบากเหมือนกัน และก็ต่้องหาทางแก้ไขสถานการณ์เหมือนกัน
แต่ในวิกฤติบางครั้งก็มีโอกาส ต้องพยายามมองหาโอกาสนั้น เช่น เมื่อผู้คนไม่ประสงค์จะออกไปจับจ่ายใช้สอย การบริการส่งของถึงที่ หรือการไปให้บริการบางอย่างที่ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้าน น่าจะได้รับความนิยมเพิ่ม เช่น บริการซื้อของจำเป็นให้ลูกค้า บริการรับของไปส่งให้ หรือเสริมเพิ่มไปในบริการที่ให้เดิม เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจที่จะเลือกใช้บริการกับเรา แทนที่จะไปเลือกใช้เจ้าอื่น เป็นต้น
4.เพิ่มสภาพคล่องด้วยการขายทรัพย์สิน : ในคราวจำเป็น เราควรจะสำรวจดูว่า เรามีทรัพย์สินชิ้นไหนที่ไม่จำเป็นหรือไม่ หากขายออกไปเพื่อให้ได้เงินสดมาหมุนเวียนในกิจการ หรือขายออกไปเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย จะกระทบกับการดำเนินงาน หรือกระทบกับการใช้ชีวิตมาเกินไปหรือไม่ โดยทรัพย์สินบางอย่าง หากต้องการใช้ เราอาจจะเช่าใช้ แทนที่จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆเอง
สำหรับบุคคล เครื่องประดับบางชิ้นก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิต ปากท้องสำคัญกว่า
5.นำเงินสำรองยามฉุกเฉินออกมาใช้หมุนเวียนชั่วคราว : ข้อนี้ใช้ได้เฉพาะสำหรับผู้ที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่แล้ว หากท่านไม่มีในครั้งนี้ ท่านต้องเริ่มวางแผนทางการเงิน และจัดสรรเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในครั้งหน้า ท่านจะได้มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้
กรณีที่ท่านนำเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไป ท่านต้องกลับไปเก็บเงินสำรองเพิ่มให้ได้กลับมาเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมนะคะ เพราะค่าใช้จ่ายในอนาคตต้องสูงกว่าในปัจจุบัน เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินในคราวหน้าท่านจะต้องใช้เงินฉุกเฉินมากกว่าเดิม
6.ขอผ่อนผันการชำระหนี้ หรือขอกู้เงินระยะสั้น : หากพยายามทำทุกอย่างแล้ว เงินยังไม่พอ คงต้องพึ่งสถาบันการเงินโดย อาจจะขอยืดระยะเวลาการชำระคืนออกไป หรือขอกู้เงินระยะสั้น เพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องหมุนเวียนใช้จ่าย ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ฯลฯ ช่วงนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้ในอ้ตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
สำหรับบุคคลแล้ว แนะนำให้ขอให้ญาติมิตรช่วยเหลือชั่วคราวไปก่อนค่ะ
7.ใช้เงินชดเชยจากบริษัทประกันหรือประกันสังคม : กรณีท่านมีประกันภัยสำหรับไม่ให้ธุรกิจสะดุด หรือ Business Interruption Insurance ท่านจะได้รับเงินชดเชยกรณีขาดรายได้อันเนื่องมาจากเหตุอันไม่คาดฝัน หรือภัยพิบัติ โดยจะชดเชยค่าใช้จ่ายคงที่ การย้ายไปตั้งในทำเลใหม่ชั่วคราว หรือค่าใช้จ่ายพิเศษที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดฝันหรือภัยพิบัตินั้น การทำประกันนี้ท่านสามารถทำเพิ่มจากที่ท่านทำประกันอัคคีภัย หรือประกันภัยอื่นๆของธุรกิจได้ค่ะ
สำหรับบุคคล หากท่านอยู่ในระบบประกันสังคม กรณีตกงาน สมัครใจลาออก (เช่นเข้าโครงการเกษียณแบบสมัครใจ) หรือถูกเลิกจ้าง สามารถไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน เพื่อแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้นก่อน โดยแบ่งการชดเชยเป็นสองกรณีดังนี้
กรณีแรก คือ ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
กรณีที่สอง คือ ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย (โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุด 15,000 บาท เช่นเดียวกัน) เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
กรณีมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันและท่านต้องนำเงินออมมาใช้ หรือขาดรายได้จึงต้องหยุดออมนั้น เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือเมื่อท่านกลับมามีรายได้อีกครั้งหนึ่ง ท่านต้องอย่าลืมกลับไปออมเพิ่มนะคะ มิฉะนั้นเป้าหมายการเงินระยะยาวของท่าน เช่น เป้าหมายเกษียณ อาจจะ ไม่บรรลุ และสำหรับธุรกิจ หากท่านไม่กลับไปสะสมทุนต่อ ก็จะกระทบกับความมั่นคงในระยะยาวของธุรกิจค่ะ
เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบ ไม่มากก็น้อย หากท่านเตรียมตัวมาดี มีการวางแผนการเงินดี มีความมั่นคง ท่านก็จะถูกกระทบน้อย หรือมีเงินจากแหล่งอื่นที่จะมาบรรเทาสถานการณ์ได้ แต่หากท่านวางแผนการเงินไว้ไม่ดี ไม่ครบ หรือไม่ได้วางแผนมาเลย ท่านจะได้รับผลกระทบมากหน่อย
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือบุคคล การมีแผนการเงินที่ดี และดำเนินตามแผนได้ จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐค่ะ
ขอให้ทุกท่านโชคดี และขอให้อดทน พยายามต่อสู้ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ไปได้ด้วยดีค่ะ ดิฉันคาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนพฤษภาคมค่ะ