มองลึกปัญหา ‘Technological Generation Gap’
ความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความเข้าใจในกันและกัน
เราอาศัยอยู่ในสังคมที่หลากหลายเนื่องด้วยความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กระทั่งเรื่องทั่วไปอย่าง ‘วัย’ หลายโอกาสเราพบว่า ผู้คนวัยต่างกัน มักมีแนวคิดและรูปแบบพฤติกรรมต่างกัน บางครั้งนำไปสู่ความไม่เข้าใจหรือช่องว่างระหว่างคนต่างวัย เรียกว่า ‘Generation Gap’ ยุคดิจิทัลนี้ เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาดิสรัปแค่วิธีทำธุรกิจ แต่ยังป่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมวงกว้าง ทั้งที่ทำงานและในบ้านของพวกเราเอง การแก้ปัญหา ‘Technological Generation Gap’ มีพื้นฐานมาจาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน
1.เทคโนโลยีสร้างความหลากหลายทางพฤติกรรม ยกตัวอย่าง เช่น ห้องประชุมที่มีพนักงานหลากหลายวัย เจนเนอร์เรชั่นใหม่คุ้นเคยกับ ดิจิทัล แกดเจ็ท และฟีเจอร์ต่างๆ อาจใช้สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป จดบันทึกการประชุม หรือค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ พนักงานรุ่นเก๋าอาจเลือกใช้อุปกรณ์ที่ตัวถนัดอยู่แล้ว เช่น สมุดและปากกา ทั้งสองทางเลือกไม่ผิด ใช้ทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้เหมือนกัน แต่เมื่อต่างคนมองต่างมุม ความทันสมัยที่สร้างความสะดวกรวดเร็วอาจกลายเป็นความไม่รอบคอบ สิ่งที่มีอยู่เดิมอาจถูกมองว่าเชื่องช้า ล้าสมัย ทำให้บรรยากาศการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยอาจมีความตึงเครียดและความไม่เข้าใจเจือปนอยู่เสมอ
2.เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์มค่านิยมการใช้ชีวิต คนทุกวัยย่อมให้คุณค่ากับ ‘Work Life Balance’ กลุ่มเจนวาย และเจนแซด จะชื่นชอบการใช้ โมบาย เทคโนโลยี ความสะดวกในการสื่อสาร ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูล และยอมรับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้ง่ายกว่า ทำให้หลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานแบบ รีโมท เวิร์คกิ้ง ได้ กลับกันพนักงานต้องมอบ Instant Availability ให้กับงานด้วย นี่เป็นการเบลอเส้นแบ่งระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
ดังนั้น พนักงานอีกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานมาเป็นเวลานาน จึงนิยมทำงานที่กำหนดเวลาและแบบแผนชัดเจนเสียมากกว่า ขณะที่ เราพยายามตามหาสมดุลในแบบตัวเอง สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความสามารถสื่อสารทุกที่ทุกเวลาที่โมบาย เทคโนโลยี มอบให้จะถูกนำมาใช้มากขึ้น และกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของ Instant Communications ในไม่ช้า
3.เทคโนโลยีเร่งให้เกิดอุปสงค์ต่อทักษะใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เด็กรุ่นใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถฝึกฝนใช้งานได้เร็ว แต่สำหรับเจนเนอร์เรชั่นอื่นๆ เทคโนโลยีอาจดูไม่จำเป็นมาก หรือยังมองไม่เห็นประโยชน์มากพอ เมื่อพฤติกรรม ทัศนคติ และ Skill set ยืนอยู่คนละฝั่ง ช่องว่างก็เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นหน้าที่แต่ละบุคคลที่ต้องปรับตัวแล้ว องค์กรต้องทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อลดช่องว่าง และสร้างสภาวะการทำงานที่ดีสำหรับทุกวัย โดยสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของทุกวัยได้ก็ไม่ใช่ใดอื่น นอกจากตัว ‘เทคโนโลยี’ เอง
‘Customize’ ลดช่องว่างวัยในที่ทำงาน
ปัจจุบัน เจนแซด เริ่มเข้าสู่โลกการทำงานแล้ว ทำให้บางองค์กรมีพนักงานถึง 4 เจนเนอร์เรชั่น ทั้ง เบบี้ บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ เจนแซด เจนวาย หากองค์กรต้องการใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์รวมอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานของพนักงานทุกคน สิ่งเชื่อมทุกวัยไว้ที่จุดศูนย์รวมนั้น คือ ‘ความยินยอมใช้เทคโนโลยี’ และ ‘ความสามารถใช้เทคโนโลยี’ การนำเสนอเทคโนโลยีไปสู่พนักงานต้อง Customize หรือใช้วิธีที่ต่างไปตามคนแต่ละกลุ่ม
เจนวาย เจนแซด การใช้ ดิจิทัล ไกด์ไลน์ หรือ Self-learning Method เป็นเรื่องที่ทำได้ สิ่งที่ต้องคิดถึงเป็นพิเศษ คือ ความง่ายต่อการใช้งาน หากเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานในชีวิตจริง คนเหล่านี้จะไม่รีรอหาเทคโนโลยีอื่นๆ มาทดแทน ส่วนเบบี้ บูมเมอร์ และเจนเอ็กซ์ การจัดคลาสเทรนนิ่งแบบอินเตอร์แอคทีฟ มีการถาม-ตอบ การสาธิต การทดลองใช้เพื่อสร้างความมั่นใจ ยังจำเป็น ต้องให้พวกเขายอมรับถึงประโยชน์การเป็น สมาร์ท เวิร์คเพลส ทำให้เขาบริหารจัดการเวลาได้ดี ใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น เป็นต้น
ต้องอาศัย ‘ความเข้าใจ’
ในบริบทครอบครัว คุณแม่คุณพ่อหลายคนคงจะบ่นว่าโดนเทคโนโลยีแย่งเวลาของลูกๆ ไป ทำให้นึกถึงเรื่องราวภาพยนตร์เรื่อง ‘Mother Gamer’ ที่ทางการีนา (ประเทศไทย) มีส่วนร่วมกับสหมงคลฟิล์ม เป็นเรื่องราว แม่-ลูกชาย ที่ไม่ลงรอยกันเรื่องเส้นทางอาชีพนักกีฬาอีสปอร์ตที่ลูกชายเลือก แทนที่จะปล่อยให้ช่องว่างเพิ่มระยะห่าง แม่ เข้าไปอยู่ใน ‘พื้นที่ของลูกชาย’ คือ โลกแข่งขันอีสปอร์ต แม่ตั้งทีมตัวเองขึ้นมาท้าประลองและโค่นล้มทีมลูก เมื่อลองสัมผัสวิถีชีวิตลูก แม่ก็รู้ว่าโลกของลูกก็มีเหตุผลและความสวยงาม ทั้งยังช่วยทำความเข้าใจการตัดสินใจของลูกด้วย
ดังนั้น นี่จึงเป็นการ Visualize สิ่งที่พวกเราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วแต่อาจจะละเลยไปในบางครั้ง ว่าความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความเข้าใจในกันและกัน และการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัวก็ต้องอาศัยการเปิดใจและเอาใจเขามาใส่ใจเราเช่นกัน