Brain-Based Leadership (1)
ส่องความหมายของคำว่า Brain-Based Leadership หรือ "ผู้นำสมอง" ในมิติของยุคดิจิทัล ต้องเตรียมพร้อมหรือมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
สัปดาห์สิ้นเดือน ผม พี่ป๊อป อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา และ อิ๊น ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ CEO สาวคนเก่งของ Slingshot Group มีนัดจะนั่งคุยกันเรื่อง Brain-Based Leadership ในมิติของยุคดิจิทัล
สองบทความนี้เลยจะชวนคุณผู้อ่านรำลึกความหลังถึงการทำงานของสมองมนุษย์ในบริบทของผู้นำ สักหน่อย เนื้อหามาจากหนังสือเล่มแรกของผมกับ Nation Books ผู้นำสมองใคร ๆ ก็เป็นได้ (2014)
ฟันธง ตรงประเด็นเป็นข้อๆ เลยแล้วกันนะครับ
1. สมองส่วนหลังที่เป็น ‘อารมณ์’ และ ‘พฤติกรรม’ ของเรามีขนาดใหญ่กว่าสมองส่วนหน้าที่เป็น ‘เหตุผล’ ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อภาวะผู้นำอย่างมาก โลกแห่งการทำงานเป็นโลกที่ต้องการเหตุและผล แต่มนุษย์ (ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง) เผอิญเป็นสัตว์แห่งอารมณ์ เหตุผลกับอารมณ์จึงเป็นลิ้นกับฟันที่กระทบกันอยู่เรื่อยๆ ตัวแปรแห่งความสำเร็จของผู้นำจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอคิว แต่เป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ชั่ววูบ (impulse control) ข้อแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำคือ slow down ก่อนจะทำอะไรให้เวลาสติตามสมองให้ทัน
ยิ่งปัจจุบันนี้ โลกแห่งดิจิทัลทุกอย่างรวดเร็ว กดไลค์กดแชร์ กว่าจะรู้ว่า Fake News ก็สายเสียแล้ว ฉะนั้นผู้นำควรต้องฝึกตัวเองให้ช้าลงอย่างมีสติ วิธีง่ายๆคือฝึกถามคนรอบตัว (และตัวเอง) ว่า “เรื่องนี้ด่วนไหม? ต้องตัดสินใจเดี๋ยวนี้เลยหรือเปล่า?”
2. โลกที่ทำงานส่วนมากมักเน้นเหตุผล แต่ทราบไหมครับว่ากว่า 90% ของเวลาเราใช้สมองส่วนที่เป็นอารมณ์ในการคิดอะไรต่อมิอะไรด้วยระบบที่เรียกว่า Default Network มนุษย์เคยเชื่อว่าหากเราไม่ได้คิดอะไรแปลว่าสมองเรา ‘ว่างงาน’ แท้จริงแล้วสมองต้องบังคับตัวเองให้หยุดงานประจำเพื่อ ‘แบ่งเวลา’ มาคิดต่างหาก ฉะนั้นใช้เหตุผลได้แต่อย่าลืมฟังเสียงจากหัวใจ แยกให้ออกระหว่าง Business กับ Busy-ness
3. สมองส่วนอารมณ์และเหตุผลดังกล่าวทำงานประหนึ่งไม้กระดก แปลว่าเมื่อเรามีเหตุผลเราจะไม่ค่อยมีอารมณ์ ในทางกลับกันเมื่อเรามีอารมณ์เรามักไม่ค่อยมีเหตุผล สาเหตุเป็นเพราะสมองต้องตัดสินใจเลือกอย่างเสียอย่างระหว่างสองสิ่งนี้ ทักษะที่ผู้นำสมองควรฝึกคือการกระดกสมองตนเองและผู้อื่นให้เป็น งั้น เวลาเพื่อนอกหักอย่าปลอบมันว่า ‘อย่าคิดมาก’ หรือถ้านายกำลังเลือดขึ้นหน้าอย่าบอกพี่แกว่า ‘ใจเย็นๆ’ เวลาอารมณ์ขึ้นทำอย่างไรให้มีเหตุผล เช่นกัน เวลาเหตุผลมากไปจะกระตุ้นอย่างไรให้ฮอร์โมนฉีดพล่าน
4. สมองมนุษย์ไม่สามารถคิดหลายอย่างได้พร้อมกัน อ้าว แล้ว multi-tasking ล่ะทำได้ไหม? ได้ แต่ถ้าต้องใช้สมอง ‘คิด’ กับมากกว่าหนึ่งเรื่องในเวลาเดียวกัน ประสิทธิภาพจะลดลง ความผิดพลาดจะเพิ่มขึ้น หากปัจจุบันผู้นำคิดว่าสามารถ task-switching ได้ดี ลองแบ่งเวลาโฟกัสให้เป็นเรื่องๆไป อย่าตั้งคำถามพร้อมกันทีละหลายข้อ อย่าเช็คเมล์ทุกสองนาที แล้วอาจเซอร์ไพรส์กับความ ‘เทพ’ ของสมองตัวเอง
งานวิจัยจาก University of California, Irvine โดย Professor Gloria Mark พบว่า พนักงานในองค์กรการเงินแห่งหนึ่ง switch task ทุก ๆ 3 นาที และสาเหตุในการสวิตช์ก็คือ… ใช่ครับ โทรศัพท์มือถือ หากสมองใช้เวลา 30 นาทีในการโฟกัสอย่างเต็มที่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เทียบบัญญัติไตรยางค์ง่าย ๆ คือพนักงานยุคดิจิทัลกำลังใช้เพียง 10% ของกำลังสมองที่มี
5. ธรรมชาติการทำงานของสมองเน้น ‘เร็ว’ และ ‘หยาบ’ สมองมีความสามารถต่ำในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ให้ครบสมบูรณ์ แต่มันเอาตัวรอดด้วยการปะติดปะต่อเรื่องราวของมันเอง ในชีวิตประจำวันผู้นำจึงมักพบการหาเหตุผล
หลังการตัดสินใจ (ไปแล้ว) วันนี้พูดอย่าง อีกวันพูดอีกอย่างไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เป็นธรรมชาติของสมอง ข้อแนะนำคือ จดบันทึก ทวนความเข้าใจ ทำข้อตกลงที่สำคัญให้เป็นลายลักษณ์อักษรที่สุดเท่าที่ทำได้
ประเด็นนี้เทคโนโลยีช่วยเราได้ เช่น ช่วงไวรัสระบาดนี้ผมใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสื่อการสอนมากขึ้น และ AI ช่วยบันทึก transcript สิ่งที่พูดออกไปได้โดยเราไม่ต้องลงแรง
6. เราอาจเคยเข้าใจว่ามนุษย์ ‘คิด’ ก่อน ‘ทำ’ แต่การศึกษาด้านสมองเริ่มบอกเราว่าความเชื่อนั้นอาจไม่จริงเสมอไป สมองมีส่วนหนึ่งเรียกว่า Thalamus มีหน้าที่รับสัญญาณรีเลย์ข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาทในร่างกาย ปากที่คาบดินสออาจบอกสมองว่าเจ้าตัวกำลังยิ้ม หรือคิ้วที่กำลังขมวดอาจสื่อสารว่านี่คือความเครียด ข้อคิดสำหรับผู้นำคือเราสามารถเป็นนายสมองตัวเองได้ โดยใช้การควบคุมร่างกายไปโน้มน้าวสมองอีกที ผู้นำที่ดีสามารถใช้การ ‘ทำ’ มาจัดการวิธี ‘คิด’ ของตนเอง ศรัทธาสร้างได้ครับ
จบตอนก่อนเพราะเนื้อที่หมดแล้ว สัปดาห์หน้ามาต่อ
ส่วนใครสนใจจะลงทะเบียนมาคุยด้วยกันสิ้นเดือนนี้ ติดต่อได้ที่ Slingshot Group นะครับ