ช่องทางลดวิกฤติในตลาดโลกต่อเศรษฐกิจไทย
วิกฤติโควิด -19 ที่กำลังโจมตีภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศในขณะนี้ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาวะวิกฤติหรือความขัดแย้งในต่างประเทศ
สามารถส่งผลกระทบต่อสภาวะภายในประเทศ ตัวอย่างอื่นๆ ของปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้แก่ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ความผันผวนของตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน ข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้ก่อแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยากแล้ว ก็ยังสามารถส่งอิทธิพลต่อเนื่องได้รุนแรงด้วย
เศรษฐกิจไทยนับได้ว่ามีความเปราะบาง(vulnerability) ที่ค่อนข้างสูงในหลายแง่มุมตามสถิติต่อไปนี้ อัตราส่วนมูลค่าการส่งออกต่อ GDP แกว่งตัวอยู่ในระดับที่สูง(70%) และแม้ว่าแรงงานจำนวนมาก(30%) จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม ผลผลิตของเกษตรกรก็ยังมีส่วนแบ่งค่อนข้างน้อยทั้งในการส่งออกและ GDP (6.8% และ 8.0% ตามลำดับในปี 2562) สาเหตุที่สำคัญของปัญหาเหล่านี้คือ ผลผลิตของเกษตรกรไทยกระจุกตัวอยู่ในสินค้าเพียงไม่กี่รายการ อันได้แก่ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน การส่งออกสินค้าเกษตรเพียง 4 รายการนี้มีมูลค่าสูงถึง 62% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งสิ้นในปี 2562 นอกจากนั้น ตลาดการส่งออกสินค้าหลักเหล่านี้ก็กระจุกตัวอยู่ในบางประเทศเท่านั้น เช่น 66.2% ของการส่งออกมันสำปะหลังทั้งสิ้นในปี 2562 ไปสู่จีน 58.8% ของปาล์มน้ำมันไปสู่อินเดีย และ 39.0% ของยางไปสู่จีน การกระจุกตัวของทั้งผลผลิตและตลาดส่งออกนี้ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรอย่างแน่นอนทั้งในแง่ราคาและรายได้ การท่องเที่ยวเป็นอีกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย(11.1% ของ GDP) เพราะมีธุรกิจเกี่ยวโยงเป็นอันมาก เช่น กิจการการบิน การขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร และบริการ และลูกค้าหลักมักมาจากจีนและเอเชียตะวันออก ดังนั้น วิกฤติโควิดจึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นลูกโซ่ เช่นเดียวกับที่สภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ทำให้ธุรกรรมในศูนย์การค้าและตลาดชุมชนลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นอันมาก
ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ เช่นไทยคือ สนับสนุนการกระจายผลผลิตของภาคเกษตรไปเป็นพืชผักผลไม้ประเภทต่าง ๆ กระจายตลาดการส่งออก และดำเนินมาตรการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ(ก) การกระจายผลผลิตเกษตรนั้นจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเกษตรกรไทยให้มีภูมิคุ้มกันตนเอง (immunity) มากขึ้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกษตรกรสามารถกระทำได้แน่นอนตัวอย่างเช่น ชาวสวนยางในภาคใต้ได้หันมาปลูกผักขึ้นฉ่าย มะละกอ สละ ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และหมาก ทดแทนยางพาราและปาล์มน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการทดแทนเช่นนี้ทำให้ใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยวและมีตลาดรองรับอย่างต่อเนื่อง จึงสร้างรายได้ที่สูงขึ้นและสม่ำเสมอ (ข)การกระจายตลาดการส่งออกจะช่วยกระจายความเสี่ยงที่บางประเทศลูกค้าอาจประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้ (ค)ส่วนการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศนั้นก็มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงมาก (228 พันล้านดอลลารN) หนุนหลังอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องวิตกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งอาจกลับมาเยือนได้อีกครั้ง
โดย...
ปกรณ์ วิชยานนท์