หมดโควิด ชีวิตจะเป็นเช่นใด
ผมเชื่อว่ามนุษย์ ไม่ยอมให้เจ้าไวรัสตัวน้อย จับเราเป็นตัวประกันได้นานหรอกครั
แต่จะเอาแบบ “อยู่หมัด” ด้วยวัคซีนป้องกัน จนมันทำร้ายเราไม่ได้อีกเลย หรือได้เพียงแค่ “ปะทะ” ด้วยยารักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดความน่ากลัวของมันลงไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ลองมาดูกันครับ ว่า ในวันที่โควิดผ่านไป ชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ที่อเมริกา ซึ่งไวรัสตัวนี้กำลังอาละวาดอย่างหนัก มีรายงานว่า ความรักของวัยรุ่นบางคน ต้องหยุดลงอย่างกระทันหัน บางรายอาจถึงขั้นสิ้นสุดไปเลย
นิตยสารไทม์ เล่าว่านักศึกษามหาวิทยาลัยปีสุดท้ายบางคน ที่ “เล็ง” เพื่อนนักเรียนด้วยกันมา 2-3 ปี จนรู้สึกว่า “ใช่” จึงเอ่ยปากขอเริ่มความสัมพันธ์ฉันแฟน และอีกฝ่ายก็ยินยอมพร้อมใจ
แต่แล้ววันรุ่งขึ้น ก็เพราะเจ้าไวรัสนี่แหละ มหาวิทยาลัยได้ประกาศปิดการสอนเทอมสุดท้าย ปิดก่อนกำหนดและทุกคนต้องกลับบ้าน ไปเรียนออนไลน์เท่านั้น
สิ้นสุดเทอมนี้จะได้เป็นบัณฑิตอยู่แล้ว และมีเวลาอีกไม่นาน ที่จะสานสัมพันธ์กับคู่ชีวิตในอนาคต กลายเป็นว่าต้องแยกกันกระทันหัน ไม่ต้องกลับมหาวิทยาลัยอีกเลย
เพราะเกือบทุกแห่ง เลื่อนวันรับปริญญา ในเดือน เมษายน พฤษภาคม ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็มีโอกาสสูงที่ความสัมพันธ์จะสะดุดลง นี่แหละครับพิษสงเล็กๆของไวรัส ที่คุณอาจคิดไม่ถึง
คราวนี้ผมพาไปเมืองจีน ไปดูว่า คู่สมรสที่สมหวังในความรัก ได้รับผลกระทบอย่างไร หรือไม่
หลังจากจีนปราบไวรัสลงได้ และช่วงเลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว ผู้คนก็กลับมาใช้ชีวิตที่ “ค่อนข้างปกติ” อีกครั้ง แต่กลับมีรายงานว่า “อัตราการหย่าร้าง” มีแนวโน้มสูงขึ้น
คำอธิบายก็คือ ระหว่างที่ไวรัสอาละวาดหนักและทุกคนต้อง “โฮมสเตย์” นั้น การอยู่ด้วยกันทั้งวันและทุกวัน ต้องปรับวิถีชีวิต เช่นการรักษาความสะอาด การรับประทานอาหาร ฯลฯ ผสมกับความกดดันอื่นๆ เช่นรายได้ที่ลดลง มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และทำให้ความคาดหวังต่อกันและกัน มากขึ้น
บางคู่ที่มีบุตรแล้ว ยิ่งอึดอัด เพราะโรงเรียนปิดทั้งหมด เด็กๆต้องอยู่บ้าน เรียนหนังสือที่บ้าน ปัญหาและความกดดันหลากหลายก็ตามมา ทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น บางครอบครัว กลายเป็นอดทนต่อกันไม่ไหว พอพ้นช่วงเวลาสเตย์โฮม ก็นำไปสู่การหย่าร้างครับ
ผมก็ได้แต่หวังว่าในช่วงนี้ ครอบครัวคนไทยคงไม่ถึงขนาดนั้น หมดโควิดและออกจากบ้านได้เมื่อใด คงไม่มีคู่ใดที่ตรงไปสำนักงานเขตเพื่อขอหย่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่ที่ไปเข้าคิวข้ามคืน เพื่อจดทะเบียนรักที่เขต “บางรัก” เมื่อสองเดือนก่อน เพราะจะอายคู่ที่เขาไปที่เขต “บางพลัด” แต่ยังอยู่ด้วยกันอย่างดี !
ที่เราอยากเห็นที่สุด ก็คือเมื่อโควิดจบไปแล้ว เรากลับมาใช้ชีวิตทุกอย่างได้เหมือนเดิม จะไปไหนก็ได้ นั่งติดกันก็ได้ แสดงความรัก หรือความคิดถึงด้วยการกอดกันก็ได้ ชมภาพยนตร์ ดูละครก็ได้ ฯลฯ แต่ถ้าจะมีวันอย่างนั้น ก็ต้องมีวัคซีนที่ได้ผล ราคาต่ำ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ความหวาดระแวงจึงจะหายไป
แต่ไม่น่าจะมีวัคซีนเช่นนั้นในเร็วๆนี้ เราจึงต้องนึกถึงภาพชีวิตและความสัมพันธ์ ที่เปลี่ยนไป หลังโควิดจางหาย แต่ไม่ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง และระยะห่างก็ยังคงต้องมีอยู่
ผมลองคิดถึง ผลทางเศรษฐกิจ ด้วยครับ เช่นถ้ารถบัสคันหนึ่ง ยังต้องนั่ง 1 ที่ เว้น 1 ที่ ตลอดไป เหมือนที่ บขส. ทำในช่วงนี้ ต้นทุนก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้รถขนาดใหญ่ กินน้ำมันมากขึ้น รายได้ต่อคันลดลง หรือไม่ค่าโดยสารก็ต้องแพงขึ้นเกือบเท่าตัว และเมื่อจำนวนคนที่ต้องการเดินทาง ยังมีเท่าเดิม ก็แปลว่าจำนวนรถบนท้องถนน ต้องมีมากขึ้น เผาผลาญน้ำมันมากขึ้น ฯลฯ
สายการบินต่างๆ ซึ่งจัดเก้าอี้ชั้นประหยัดเบียดกันจนแน่น จะทำอย่างไร เพราะแถวที่นั่งปกติ นั่ง 3-4 คนติดกัน จะต้องเว้น 1 ที่ ซึ่งเว้นระยะแค่นี้ก็ไม่ถึง 1 เมตรอยู่แล้ว และในยุโรปการนั่งแบบนี้ถือเป็นชั้นธุรกิจ ค่าโดยสารแพงขึ้นด้วย
ร้านอาหาร ถ้าต้องจัดโต๊ะให้มีเก้าอี้น้อยลง โรงแรมที่จัดงานเลี้ยง ก็ต้องทำแบบเดียวกัน ฯลฯ แบบนี้กระทบต่อการใช้พื้นที่ และเพิ่มต้นทุนทั้งนั้น ระบบการคิดต้นทุนและราคา คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ
ไม่ว่าจะมองมุมใดหรือธุรกิจใด มันก็มีผลต่อวิถีชีวิต และมูลค่าเศรษฐกิจทั้งนั้น และ
ถ้ามนุษย์ยังจำเป็นต้องห่างกัน ระแวดระวังกันและกัน ไปอีกนาน ทุกธุรกิจก็จะต้องปรับตัวอย่างมาก ว่าจะทำธุรกรรมอย่างไร ให้ดำเนินไปได้ โดยมีต้นทุนและรายได้ที่สามารถอยู่ได้ และผู้ใช้บริการแบกภาระเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด
ที่ประเทศจีน เมื่อกลางเดือนมีนาคมนี้ เพิ่งฟื้นจากไวรัสหมาดๆ คนที่นั่นเล่าว่า คนขับแท็กซี่ใช้พลาสติกกั้น ระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร คนงานโรงงานกินอาหารกล่อง และนั่งห่างกันเกือบ 2 เมตร ร้านก๋วยเตี๋ยวใช้โต๊ะ 4 ที่นั่ง เพื่อรับลูกค้า 2 คน และแม้จะเป็นสามีภรรยา ก็ให้นั่งแทยงมุมกัน นักกฎหมายไม่รับนัดลูกค้าที่สำนักงาน แต่นัดไปที่ร้านกาแฟ และยังต้องนั่งห่างกัน 4 ฟุต หรือ 1.20 เมตร ฯลฯ นั่นเป็นชีวิตสดๆร้อนๆที่จีน หลังโควิดจางลง
ที่ผมเล่ามา เป็นเรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด รวมทั้งชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่อยากจะบอกว่า มนุษย์เรานั้นมีจิตใจ มีการถ่ายทอดความรู้สึก ไม่ว่าในยามรักหรือยามเศร้า มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาก็แสดงออกด้วย “การกอด” และเป็นแบบนี้มาตลอด แต่ช่วงนี้เจ้าไวรัส พรากสิ่งนี้ไปจากเรา
ยุคโรคเอดส์ ตอนแรกๆ เราก็ไม่กล้าสัมผัสผู้ติดเชื้อเหมือนกัน แต่วันนี้ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว โคโรน่าก็เช่นกัน อีกไม่นานมันจะต้อง ไม่สามารถสกัดกั้นการแสดงออกของเราได้
การแสดงออกซึ่งความรัก และความผูกพัน สักวันจะต้องกลับคืนมาครับ