จิตยุ่ง .. ในโลกที่วุ่นวาย !!
เจริญพรสาธุชนผู้มีสติปัญญา... ในยามที่สังคมมนุษยชาติวุ่นวายโกลาหลด้วยภัยพิบัติ ไม่ว่าจะดินฟ้าอากาศวิปริต หรือ วิกฤติโรคร้ายคุกคาม ให้นึกถึงคำว่า จิตยุ่ง !!
“...จิตของหมู่สัตว์เหมือนกลุ่มด้ายยุ่งเหยิงที่หนาแน่นไปด้วยปม พันกันยุ่งเหมือนเถาวัลย์หลากหลายชนิดที่ถักทอพันกันยุ่ง...
จิตยุ่งเหยิง มากไปด้วยความหวาดวิตก จึงยากจะล่วงพ้นความทุกข์ในสังสารวัฏนี้ได้.. อบาย ทุคติ วินิบาต ย่อมเป็นที่หมาย
แม้ในขณะมีวิบากขันธ์เป็นมนุษย์ .. แต่จิตเสวยผลกรรมในปัจจุบัน... ดี ชั่ว บาป บุญ จึงให้ผลอันเป็นปัจจุบัน จนละทิ้งฐานของความเป็นสัตว์ประเสริฐไปอย่างน่าสังเวช...
แท้จริงของจิตที่ยุ่ง เพราะอำนาจกิเลสที่ก่อรูปเป็นอวิชชา .. ให้รู้ผิดเห็นผิดไปจากธรรม... ไม่สามารถรู้ถึงธรรม.. ไม่รู้ตามลำดับแห่งธรรม.. ไม่แทงตลอดซึ่งธรรม อันแสดงความเป็นสัจธรรม !!
ตราบใดที่จิตของสัตว์เรายังตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรัก โกรธ เกลียด กลัว ...ก็ยากที่เจริญ สุข สวัสดี ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า ด้วยกฎแห่งกรรมที่ยุติธรรมที่สุด...”
หยิบยกธรรมเรื่องชีวะหรือสรีระมาศึกษาพิจารณาดู จึงได้เห็นความจริงของกระบวนการก่อเกิดชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ที่มีการเกิด ตาย กิน ถ่าย และสืบพันธุ์ เป็นสภาวธรรมที่ปรากฏอันเหมือนกัน
จึงให้สนใจมองไปที่ไวรัส แบคทีเรีย ที่กำลังเป็นข่าวนำสังคมโลกในขณะนี้ ตลอดจนในสัตว์เล็กน้อยทั้งหลาย เช่น เล็น ไร มด แมลง .. ว่า จริง ๆ แล้ว ล้วนแล้วแต่มีชีวะ .. มีสรีระ มีลักษณะการเกิด ตาย กิน ถ่าย สืบพันธุ์ เหมือนกันกับเรา... จะมีความแตกต่างก็คงจะเป็นความเป็นสัตว์ว่ามีความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณมากน้อยแค่ไหน.. หรือในบางประเภทที่ปรากฏชีวะนั้น มีจิตวิญญาณปฏิสนธิหรือไม่.. อย่างไร.. คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ตัวชีวะหรือสิ่งมีชีวิตอย่างไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคทั้งหลาย มีปฏิสนธิวิญญาณหรือไม่ อย่างไร ครบสมบูรณ์ในความมีรูปนามอันมีจิตวิญญาณถือครองเหมือนสัตว์โลกทั่วไปหรือยัง.. เพื่อจะได้นำเข้าสู่การศึกษาวงจรชีวิต .. ตามกฎแห่งกรรมได้...
จากประเด็นปัญหาที่ตั้งขึ้น แท้จริง เพื่อชักชวนคณะศรัทธามาศึกษาปฏิบัติธรรม ในยามที่ถูกจำกัดให้อยู่ในที่ตั้งด้วยโรคไวรัสโควิด-๑๙ เป็นเหตุ จึงได้รับฟังนานาทัศนะ.. จากนานาจิตตัง.. ที่นึกคิดพิจารณากันไปตามความรู้เข้าใจของแต่ละบุคคล จนสามารถนำมาสรุปได้ว่า แท้จริงเรามองเรื่องกฎแห่งกรรม .. กฎแห่งธรรมชาติ บนพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันไป.. โดยเฉพาะโดยสภาพจิตใจที่ต่างกัน ที่สะท้อนออกมาให้เห็นสภาพจิตใจจากการนึกคิด เรื่องราวที่คิด .. และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความคิดนึกนั้น…
ดังที่ได้หยิบยกเรื่อง ชีวะกับสรีระของสัตว์ทั้งหลาย มาเป็นข้อศึกษา... ซึ่งได้ให้หลักเทียบเคียงกับการได้ฐานะความเป็นมนุษย์ อันเป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยชีวะ .. สรีระ และวิญญาณ ว่า มีการถือกำเนิดมาจากครรภ์มารดา (ชลาพุชะ) โดยอาศัยตัวชีวะ (ตัวเชื้อกำเนิด) จากบุรุษ ซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตด้วยรู้จักเป็นตาย รู้จักกิน-ถ่ายและสืบพันธุ์ ที่ได้เข้าไปผสมกับอุตุหรือเม็ดโลหิตประจำเดือนของสตรี .. จากนั้นก็เจริญเติบโตไปตามลำดับ ตั้งแต่เป็นน้ำเมือกใส.. น้ำเมือกข้น.. ชิ้นเนื้อ.. แท่งเนื้อ.. และแตกตัวออกเป็นปัญจสาขา มีผม ขน เล็บ เกิดขึ้น.. พอครบ ๖ เดือน อวัยวะทุกส่วน เช่น ศีรษะ แขน ขา สมบูรณ์ พอถึงเดือนที่ ๗ วิญญาณธาตุแท้ที่ปฏิสนธิก็รู้สึกตัวขึ้น มีความรู้สึกหิวกระหาย.. ครบ ๘-๙ เดือน ก็ดิ้นรนอยากออก ไม่เกิน ๑๐ เดือน ก็คลอดออกมา
ที่น่าสนใจคือ วิญญาณธาตุแท้ที่ปฏิสนธิ ซึ่งเป็นปฐมวิญญาณ ที่ไม่ใช่วิญญาณทางวิถีประสาท (วิถีวิญญาณ) ซึ่งเป็นธาตุแท้ที่ไม่มีการเกิด การตาย เป็นชาติอมตะ แต่เมื่อมาสัมปยุต (รวมกัน) กับกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา จึงทำให้เกิดสังขาร (การกระทำ) ขึ้น.... ดังที่มีหลักธรรมกล่าวว่า เมื่อสังขารมี วิญญาณย่อมมี.. หรือเมื่อวิญญาณมี สังขารย่อมมี และเมื่อวิญญาณมี นามรูปย่อมมี.. ด้วยวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป และนามรูปก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ...
นามรูปจึงต้องอาศัยวิญญาณ และวิญญาณก็ต้องอาศัยนามรูป ความอิงอาศัยกันของธรรมดังกล่าวจึงนำไปสู่การเกิดเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์ ด้วยมีชีวะ สรีระ และวิญญาณ ครบสมบูรณ์ความเป็นสัตว์... รวมตัวกันเป็นสัตว์สมบูรณ์ หากแยกออกจากกันก็จะหมดสภาพไป ที่น่าพิจารณาคือ การกระทำด้วยวิญญาณธาตุที่มีอวิชชา ตัณหา ประกอบแล้ว ซึ่งย่อมต้องให้เสวยผลจากการกระทำกรรมนั้น ๆ ตามวงจรชีวิต ที่เรียกว่า ไตรวัฏฏะ
ดังนั้น ในเรื่องกรรมดี .. กรรมชั่ว ที่จะให้ผลเป็นบาปบุญนั้น จึงจะสัมฤทธิผล เมื่อผู้กระทำมีสภาพความเป็นสัตว์สมบูรณ์พร้อมด้วยจิตวิญญาณถือครองในสรีระนั้น อันเป็นผลตามวิบากขันธ์ที่ได้มาจากกรรมเก่า .. ไม่ได้สำเร็จด้วยเพราะกระทำกับวัตถุใด ๆ ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต.. หรือสิ่งมีชีวิตจะมีจิตวิญญาณครองหรือไม่... หากแต่ขึ้นอยู่กับสังขารที่ปรุงแต่งจิตในขณะนั้น ๆ ที่เรียกว่า เจตสิกธรรม ว่า เป็นฝ่ายบาปหรือบุญ พระพุทธศาสนาของเราจึงสอนให้มีเมตตากรุณาคุ้มครองรักษาจิต เพื่อไม่ดำริไปในทางอกุศล .. เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น.... ซึ่งแท้จริงคือ การเบียดเบียนตนเองด้วยจิตวิญญาณที่ถือครองในสังขารขันธ์นั่นเองเป็นสำคัญที่สุด !!
เจริญพร