ปฎิรูปนโยบายจัดการขยะ เกาให้ถูกที่คัน(จบ)
ต่อเนื่องจาก บทความตอนที่แล้ว
ปัญหาด้านเทคนิคและการควบคุมการดำเนินงาน
1.ขาดหน่วยงานที่ดำเนินการตรวจติดตามการทำงานของการจัดการขยะอย่างเคร่งครัดและมีอำนาจเต็มในการลงโทษ ปัจจุบันมีเพียง กรมควบคุมมลพิษที่ยังมีความไม่ชัดเจนในด้านการดำเนินงานและติดขัดเรื่อ'กฎหมายที่จะรองรับอำนาจ นอกจากนี้ ส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยจะไม่ลงโทษตัวเองหากกิจกรรมการจัดการขยะดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.ขาดมาตรฐานในการทำงาน(code of practice) ทำให้การทำงานประจำวันหรือบุคคลากรไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน,ตรวจสอบ และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด
3.ขาดการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานอย่างเข้มงวด
แนวทางในการแก้ไขปัญหาจึงควรทำการอุดรูรั่วด้วยการกำหนดหน้าที่ของคนทำงานให้ชัดเจนเสียก่อน การออก พ.ร.บ.การจัดการขยะจึงมีความจำเป็นอย่างที่สุด โดยกฎหมายจะต้องสร้างกลไกที่จะอุดรูรั่วของขยะทั้งหมด (รวมถึงขยะทุกประเภทที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งรวมขยะอุตสาหกรรมไว้ด้วย) ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.พ.ร.บ.การจัดการขยะแห่งชาติ ต้องระบุให้ชัดเจนว่า การจัดการขยะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นข้อที่ต้องดำเนินการ ต้องระบุเรื่องการกำหนดแนวทาง ระยะเวลาดำเนินการ( time frame)ในกฎหมายลูก เช่น
1.1 หลักเกณฑ์การก่อสร้างและบริหารโครงการจัดการขยะ โดยคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
1.2 การจัดเก็บ จัดการขยะให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น แต่ผู้รับบริการสามารถเลือกใช้บริการได้ ถ้าเห็นว่ามีวิธีหรือรูปแบบการจัดการที่ดีกว่า
2.ออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างและดำเนินการสำหรับสถานที่จัดการบำบัดกำจัดขยะ เช่น ต้องได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยให้ สผ.ออกประกาศเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ หรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่ได้แก่ คณะกรรมการควบคุมการจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (เหมือนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการอนุญาตให้จัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน) เพื่อทำหน้าที่เป็น Regulator โดยตรง ซึ่งเอกสารประกอบการอนุญาตต้องประกอบด้วย แผนการดำเนินการ การควบคุมภายหลังยกเลิกหรือปิดดำเนินการ แผนและงบประมาณการฟื้นฟูภายหลังปิดโครงการ (เหมือนการสัมปทานเหมือง) แผนหรืองบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนข้างเคียง พื้นที่ขยะนำเข้า การประเมินด้านการเงิน การประเมินด้านLCA เพื่อคัดเลือกวิธีการจัดการ
3.ออกกฎหมายจัดการพื้นที่จัดการขยะเดิมให้หมดไปในระยะเวลา 10 ปี โดยกำหนดระยะเวลาดังนี้ ให้สถานที่กำจัดขยะเดิมต้องเสนอแผนการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามข้อ 1 ภายในระยะเวลา 5 ปี ถ้าโครงการฯใดไม่สามารถปรับปรุงหรือเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันต้องปิดตัวเองทันที และดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูสภาพโดยใช้งบประมาณของประเทศในรูปเงินกู้ให้กับของเอกชน ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบมาตรการจัดการฟื้นฟูที่นำเสนอประกอบด้วย การทำเชื้อเพลิงRDF การปิดคลุมหลุมฝังกลบแบบเทกองเดิม การฟื้นฟูสภาพดินปนเปื้อน มาตรการจัดการกับของเสียที่ได้จากการร่อนและแผนการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
4.ออกกฎหมายควบคุมการปฏิบัติงาน เช่น ควบคุมการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐาน เช่น เกณฑ์อุณหภูมิและเวลาเผาในเตาเผาขยะ เตาเผาไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ มาตรฐานการก่อสร้างหลุมฝังกลบ(QAQC, Liner etc.) มาตรฐานของผู้ประกอบกิจการรีไซเคิล เพื่อป้องกันดินปนเปื้อนและปัญหาการดำเนินงานอย่างไม่ถูกวิธี
5.สนับสนุนการจัดตั้งโครงการฯจัดการขยะ เช่น แหล่งเงินกู้และพื้นที่สำหรับดำเนินการ
6.ออกกฎหมายควบคุมราคาค่าจัดเก็บขยะให้ชัดเจน เป็นธรรมเหมือนสาธารณูปโภคอื่นๆ และสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง
7.ออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะ เช่น ปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิงจากขยะ(RDF)
8.กำหนดราคาการจัดเก็บขยะให้เป็นธรรม เช่นเก็บตามประชากรในครัวเรือน
9.ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า(Waste as a resource) เช่น สนับสนุนการรีไซเคิล การสนับสนุนระบบ EPRในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมลพิษสูงหรือสิ้นเปลืองทรัพยากร การผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่เงินสนับสนุนควรที่จะสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับการประเมินด้านพลังงานหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยนักวิชาการก่อน
10.ขยายการจัดการขยะให้ครอบคลุมขยะที่เกิดขึ้นให้ครบทุกวงจรผลิตภัณฑ์ เช่น ซากอิเล็กทรอนิกส์ ซากรถยนต์ ขยะจากการก่อสร้าง การรื้อถอนอาคาร น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว เป็นต้น,
11.คัดเลือกผู้รับสัมปทานต้องโปร่งใสและผู้ดำเนินการต้องมีประสบการณ์ ปัญหาการจัดการขยะจะต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมสูง หากโครงการใดเกิดปัญหา ย่อมส่งผลถึงการจัดตั้งโครงการประเภทเดียวกันในอนาคต ดังนั้นหน่วยงานทั้ง 2 ส่วนได้แก่ ต้นหน (Regulator)และต้นกล (Operator) จึงต้องกำหนดขอบเขตหน้าที่ให้ชัดเจน และการที่ต้องดูแลพื้นที่จัดการขยะในทุกจังหวัดซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 แห่งในอนาคต หน่วยงานเฉพาะจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
โดย...
พูนศักดิ์ จันทร์จำปี