ส่องจีนหลังวิกฤติ COVID-19
จัดเป็นงานยากของเหล่านักวิเคราะห์ที่จะคาดการณ์เส้นทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกท่ามกลางโรคโควิด 19 ว่าดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไหร่และอย่างไร
กรณีศึกษาที่ดีที่สุดคือการส่องไปที่จีนเพราะเป็นต้นทางของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และต้องเผชิญกับสถานการณ์ทุกอย่างนำหน้าประเทศอื่นอยู่ราว 1 เดือน และล่าสุด โลกมีความหวังขึ้นหลังจีนสามารถผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจกลับคืนมาได้ถึง 90-95% ของภาวะปกติ แม้ยังคงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่เข้มงวด อีกฟากฝั่งหนึ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มชะลอลง ทำให้ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม
การยกจีนขึ้นเป็นกรณีศึกษานี้ เราเลือกให้น้ำหนักกับดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ เช่น 1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวทั้งภาคการผลิตและบริโภคมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวได้ในเดือนมีนาคมจากที่หดตัวแรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ย 7 วัน ที่เราเห็นจำนวนตึกและอาคารที่ขายได้มาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง และ 3) ปริมาณการเผาถ่านหินของ 5 บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ก็เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี อัตราการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีความเร็วช้าแตกต่างกัน และดูเหมือนว่าการฟื้นตัวฝั่งอุปทาน (Supply) น่าจะทำได้เร็วกว่าฝั่งอุปสงค์ (Demand) โดยเฉพาะผลผลิตทางอุตสาหกรรม เห็นได้จากรายงานของโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าในเมืองอู่ฮั่น ที่ร่วมมือกับ Dongfeng Motor Group ภายใต้ชื่อบริษัท Dongfeng Honda ก็กลับมาเดินหน้าผลิตเต็มกำลังด้วยจำนวนพนักงานกว่า 98% และมีแผนเร่งผลิตให้มากกว่าเดิมจากวันละ 1,060 คัน เป็นวันละ 1,237 คัน (เพิ่มขึ้น 17%) โดยจะให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอีกคนละ 1.5 ชั่วโมง ขณะที่บริษัท Foxconn ผู้ผลิต iPhone ให้บริษัท Apple ก็รายงานว่าพนักงานกว่า 93% กลับมาทำงานแล้ว รวมถึงเดินเครื่องผลิตเต็มกำลังในปลายเดือนมีนาคม ผิดกับด้านอุปสงค์โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภค สันทนาการ และท่องเที่ยว อย่างร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม หรือสายการบิน ที่จะได้รับแรงกดดันต่ออีกระยะหนึ่ง คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในโหมดรัดเข็มขัด เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตที่ดูดีขึ้นจะกลับมาและรุนแรงขึ้นอีกไหม หรืออาฟเตอร์ช็อกอาจทำให้บริษัทที่ตนทำงานต้องปลดพนักงานในอนาคต
แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะภาคการบริโภคก็ไม่ได้ดูแย่ไปหมด โดยเฉพาะกลุ่ม E-Commerce หรือช้อปปิ้งออนไลน์ที่เป็นผู้รับประโยชน์ เห็นได้จากแอพพลิเคชั่นส่งอาหารอันดับหนึ่งอย่าง Meituan Dianping ที่เติบโตมาก อีกทั้ง Hema ซุปเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสดของ Jack Ma ที่ผสมผสานระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ไว้ด้วยกันก็ประกาศลงทุนเพิ่มและขยายสาขา นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนมก็ฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างคาดไม่ถึง เพราะการล็อคดาวน์ทำให้เกิดเป็นความต้องการที่ถูกชะลอไว้ ล่าสุด Hermes ในเมืองกวางโจวกวาดรายได้ไปกว่า 88 ล้านบาทในวันเดียว ส่วน Louis Vuitton ก็ร่วมกับ Xiaohongshu แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซยอดนิยมในจีนโปรโมตคอลเล็กชั่นฤดูร้อนผ่านการสตรีมสด โดยมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและถูกใจกว่า 6.25 ล้านครั้ง ขณะที่ Dior เปิดตัว Gem Clutch ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องประดับและกระเป๋าบน WeChat ก่อนจะเปิดตัวในประเทศฝั่งตะวันตกเสียอีก
แม้เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1 จะหดตัวถึง 6.8% YoY แต่ตลอดทั้งปี 2020 GDP จีนน่าจะกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ โดย IMF คาด GDP จีน ปีนี้ จะขยายตัว 1.2% ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นจีน A-share สร้างผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และไทยที่ 5.6%, 12.2% และ 12% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ 20 เมษายน 2020) สะท้อนความแข็งแกร่งและแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่เหนือกว่า
โดยสรุป เราชอบการลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Share เพราะ
- จีนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดี หากเกิดการระบาดระลอก 2 ก็คาดว่าจะจัดการได้เร็วและเด็ดขาด
- จีนมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจครบทั้งทางการเงินและการคลัง และดูจากขนาดการกระตุ้นปัจจุบันยังถือว่ายังไม่เต็มที่ด้วยซ้ำ
- นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าปี 2020 จีนจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ GDP อยู่ในเกณฑ์ขยายตัว
- ราคาหุ้นจีนน่าสนใจ โดยดัชนี CSI300 ซื้อขายอยู่ที่อัตราส่วนราคาต่อคาดการณ์กำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า (12M Forward PER) ที่ 11 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 1 เท่า
- หุ้นจีน A-share อ่อนไหวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะกว่า 80% ของการซื้อขายมาจากนักลงทุนรายย่อย ที่พร้อมเข้าลงทุนเมื่อเห็นการประกาศมาตรการอย่างต่อเนื่อง