สำรวจความพร้อม ก่อนฟื้นฟูธุรกิจอีกครั้ง

สำรวจความพร้อม ก่อนฟื้นฟูธุรกิจอีกครั้ง

ธุรกิจจะอยู่รอดหรือเติบโตได้ จะต้องทำได้ดีกว่าคู่แข่ง

ผู้บริหารต้องตระหนักว่าบรรยายกาศของการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ต้องคาดการณ์ให้ถูกต้องคาดการณ์ให้ถูกต้องว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

ที่สำคัญองค์กรที่กลับมาอีกครั้งจะต้องสร้างภูมิต้านทานต่อความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ไม่ว่าปัจจัยเสี่ยงจะเป็นอะไรก็ตาม

เพราะเราคงได้เห็นมาแล้วว่าการจัดการธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงนั่นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย การจะดำเนินธุรกิจไปวันๆ และคอยมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันต่อวันนั้น ไม่มีใครจะรับรองได้ว่าธุรกิจจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปในระยะยาวได้ ซึ่งเราก็คงทราบดีว่า การบริหารและจัดการต้นทุนให้อยู่ในค่าที่เหมาะสมนั้นช่วยสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นแก่องค์กร ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีสภาพคล่องจากกำไรสะสมเมื่อเจอภาวะวิกฤต ลองทบทวนตัวเองตามหลักปฏิบัติ 16 ข้อดังนี้

ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า

หลักปฏิบัติที่ 1 สร้างทีมร่วมกับลูกค้า เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบ คุณลักษณะของสินค้าและบริการขององค์กร หรือทำให้สินค้าและบริการมีความหลากหลายมากเพียงพอที่จะให้ลูกค้าได้เลือกสรรตามที่ใจชอบ

หลักปฏิบัติที่ 2 รวบรวมและประยุกต์ใช้สารสนเทศ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลความต้องการ และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์

หลักปฏิบัติที่ 3 ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทันทีที่ผลการวิเคราะห์พบว่ามีความต้องการใหม่ๆจากลูกค้า ให้นำเอาความต้องการนั้นมาใช้ในการปรับปรุงสินค้าใหม่

หลักปฏิบัติที่ 4 เปิดโอกาสให้พนักงานส่วนหน้ามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยน และเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโดยลำพังแบบเดิมอีกแล้ว ทั้งนี้พบว่าพนักงานในระดับปฏิบัติการจะมีมุมมองที่แตกต่างแต่มีคุณค่าเช่นกัน พนักงานขายที่ต้องพบปะกับลูกค้าเป็นประจำ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในลูกค้าจากการที่มักได้รับข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะ

ด้านการออกแบบ

หลักปฏิบัติที่ 5 ตัดลดส่วนประกอบ ขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า(ในสายตาลูกค้า) ไม่สอดรับกับยุคสมัย หรือทดแทนได้ด้วยวัสดุใหม่ๆที่ดีกว่า พนักงานที่มีจำนวนเกินความจำเป็นหรืออยู่ในส่วนงานที่ไม่เหมาะสม ควรได้รับการปรับเปลี่ยนไปทำในส่วนอื่นที่เกิดขึ้นใหม่

ด้านการดำเนินงาน

หลักปฏิบัติที่ 6 ลดเวลาด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สั้นกระชับฉับไวแบบไร้รอยต่อ และลดระยะทางในกระบวนการต่างๆให้สั้นที่สุด โดยอาจจัดผังพื้นที่การทำงานเสียใหม่ เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนย้ายภายในให้ผ่อนแรงและเป็นไปได้ง่าย

หลักปฏิบัติที่ 7 ทำการผลิตให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาด ลดทอนการผลิตสินค้าที่ล้าสมัย เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจะตรงความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ยังสร้างภาพลักษณะที่ทันสมัยได้ด้วย

ด้านทรัพยากร

หลักปฏิบัติที่ 8 พัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับฝึกฝนทักษะใหม่ๆ และขยายความสามารถให้ทำหน้าที่ต่างๆได้ในหลากหลายประเภท แนวโน้มในอนาคตพนักงาน 1 คนสามารถจะควบคุมสั่งการพื้นที่การผลิตที่ครอบคลุมงานหลายขั้นตอนได้ จากระบบการผลิตที่เป็นอัตโนมัติ

หลักปฏิบัติที่ 9 ให้รางวัล คำยกย่องชมเชย และจ่ายผลตอบแทนให้สอดรับกับผลงานและความสามารถ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทุ่มเทของพนักงาน

ด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ

หลักปฏิบัติที่ 10 ลดความผันแปรของงานและต้องไม่มีข้อผิดพลาด ความสม่ำเสมอและคงเส้นคงวาของสินค้าทุกชิ้นหรือบริการทุกครั้ง จะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ

หลักปฏิบัติที่ 11 ผู้ปฏิบัติการส่วนหน้าต้องบันทึกและเป็นเจ้าของข้อมูลเพื่อใช้ในการปรับปรุงงาน ไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆซึ่งอาจทำให้ลูกค้าขุ่นข้องหมองใจ หรือเพิกเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ด้านสารสนเทศเพื่อการปฏิบัติการและควบคุม

หลักปฏิบัติที่ 12 ควบคุมสาเหตุหลักของต้นทุน และผลลัพธ์ของการปฏิบัติงาน การคัดแยกต้นทุนตามกิจกรรมหรือภาระงานที่เกิดขึ้น จะทำให้เรารู้โครงสร้างต้นทุนที่ชัดเจน และรู้ได้อีกว่าสินค้าตัวใดมีกำไรที่แท้จริงสูงหรือต่ำ

หลักปฏิบัติที่ 13 ปรับดัชนีผลการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน ควรจัดทำเป้าหมายหรือตัวชี้วัดให้ครบถ้วนรอบด้าน อาทิ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ชุมชนสังคม และประเทศชาติ

ด้านสมรรถนะการผลิต

หลักปฏิบัติที่ 14 ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา ไม่ใช้โดยขาดการบำรุงรักษา เป็นผลให้เครื่องจักรเสื่อมสภาพ เสียสะดุดหยุดซ่อมเป็นประจำ

หลักปฏิบัติที่ 15 แสวงหาเครื่องจักรใหม่ทันสมัย ใช้งานง่าย ยืดหยุ่น และเคลื่อนที่ได้ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาพการผลิตทุกรูปแบบ เลือกลงทุนหรือแก้ไขเครื่องจักรให้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่

ด้านการส่งเสริมการขายและการตลาด

หลักปฏิบัติที่ 16 ส่งเสริมการขายและการตลาดโดยมุ่งนำเสนอที่ความสามารถ และสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นขององค์กร ที่ได้มาจากการปรับปรุงทั้ง 15 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น

 

ในช่วงที่ทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดในปัจจุบัน ไม่ว่าบางคนจะต้องทำงานที่บ้าน หรืออยู่ที่โรงงานและสำนักงานก็ตาม การเตรียมพร้อมเพื่อกลับมาฟื้นฟูธุรกิจอีกครั้ง เป็นความจำเป็นเช่นกัน