ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย รับโลกยุค 'หลังโควิด'
ผลกระทบที่เกิดจากโรค "โควิด-19" ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพของมนุษย์แต่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในสังคมทั่วโลก
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องปิดตัวและหยุดชะงักจากโรค "โควิด-19" ทำให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะตกต่ำที่สุดในรอบเกือบ 100 ปีนับจากปี 1930 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยังคงตามมาอีกระลอกใหญ่ทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตาดูผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เพราะผล กระทบครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นผลกระทบที่ทั่วโลกเผชิญชะตากรรมร่วมกัน
ไม่ใช่เพียงแต่ในเชิงตัวเลขที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมใประเทศ (จีดีพี) จะปรับลดลงมากถึงขั้นติดลบเท่านั้น แต่ในหลายประเทศต้องมากำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจกันใหม่ ประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องทบทวนเรื่องนี้ด้วยเช่นกันว่าใน "โลกยุคหลังโควิด” หรือ "Post Covid world" เศรษฐกิจของเราจะเดินหน้าไปในทิศทางใด
การเป็นประเทศที่พึ่งพากับระบบเศรษฐกิจแบบเปิดของไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึงกว่า 70% ของจีดีพีและการท่องเที่ยวประมาณ 20% ของจีดีพี โครงสร้างแบบนี้ถูกท้าทายด้วย Post Covid world อย่างแน่นอน เพราะในระยะยาวการส่งออกสินค้าหลายชนิดที่ไทยผนวกตัวเองเข้าเป็นซัพพายเชนของโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน สินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มจะส่งออกได้ลดลงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การบริโภคทั่วโลกจะถูกสั่นคลอนไปหลายปีจากผลกระทบของโควิด-19
การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร หากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค รูปแบบการรับนักท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องมีการคัดกรอง การลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาแออัดในพื้นที่ต่างๆ การประชุมและสัมนาหรือการท่องเที่ยวแบบไมซ์ (MICE)คงไม่ไม่สามารถทำได้ในรูปแบบเดิมๆ
ภาคการผลิตในอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อย่างก็ต้องมาทบทวนว่าอะไรจะเดินต่อ อะไรจะเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ยารักษาโรค สุขภาพต้องหันมาให้น้ำหนักมากขึ้นหรือไม่ ขณะที่ในภาคเกษตรที่ยังมีแรงงานอยู่จำนวนมากจะหาทางเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าอย่างไรเพื่อให้ยืนหยัดได้ในยุคเศรษฐกิจหลังโควิด
ต้องเริ่มจากเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทที่กำลังจะลงไปในระบบเศรษฐกิจตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากสามารถกำหนดแผนงานให้มีทิศทางที่เหมาะสมก็จะเริ่มเห็นแสงสว่างของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับ “New Normal” ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคต บนบริบทโลกที่ความเป็นโลกาภิวัฒน์ถูกลดทอนลง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตโดยมีหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง”เป็นกุญแจสำคัญในการนำทาง