โควิด-วัคซีน-การเมือง

โควิด-วัคซีน-การเมือง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองทับซ้อนขึ้นมา ทั้งการเมืองระดับโลก และการเมืองระดับประเทศ

กล่าวเฉพาะปัญหาการเมืองระดับประเทศ ไทยเองดูจะหนักไม่แพ้ชาติไหน เพราะมีการชิงไหวชิงพริบ เตะตัดขา ดิสเครดิตกันทุกรูปแบบไม่เว้นแต่ละวัน ถึงขนาดปล่อยเฟคนิวส์แล้วขยายผลกันเป็นทอดๆ ก็มีให้เห็นกันอยู่ตลอด

สาเหตุสำคัญเพราะ มีเชื้อของความขัดแย้งแบ่งฝ่ายสุกงอมมานานหลายปี ทำให้เมื่อชาติบ้านเมืองเผชิญวิกฤติ แทนที่จะร่วมกันคิดแล้วจับมือกันฟันฝ่า สร้างสำนึกใหม่เหมือนกับที่ อาจารย์หมอประเวศ วะสี เสนอ กลับมุ่งแต่อาศัยวิกฤติช่วงชิงความได้เปรียบกันทางการเมือง ขยายแผลขัดแย้งให้ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เอาแค่เรื่องเยียวยา 5,000 บาท ตอนแรกที่รัฐบาลคิดจะแจกเงิน ก็ถูกรุมตำหนิด่าทอจากฟากฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม แต่พอมีตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วที่แจกเงินเหมือนกัน เสียงวิจารณ์ในทางเสียหายก็เริ่มเงียบลง 

ทว่าเมื่อรัฐบาลเริ่มแจกโดยมีหลักเกณฑ์ บวกกับความผิดพลาดในเชิงธุรการต่างๆ ทำให้มีคนพลาดหวัง มีคนเครียดจนฆ่าตัวตาย เสียงเดิมที่เคยคัดค้านหัวชนฝาเรื่องแจกเงิน ก็เปลี่ยนมาเป็นเรียกร้องให้แจกแบบถ้วนหน้า

แต่ลองคิดดูเล่นๆ ถ้ารัฐบาลตัดสินใจแจกแบบถ้วนหน้า ย่อมเกิดปัญหาคนไม่สมควรได้รับ กลับได้เงิน ก็จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงอีกด้าน เผลอๆ มีมือดีไปยื่น ป.ป.ช.กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบซ้ำอีก

เมื่อบริบทการเมืองไว้ใจกันไม่ได้แบบนี้ จึงทำให้ความร่วมไม้ร่วมมือไม่เกิด จะให้ส.ส.รัฐบาลไปร่วมลงชื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็ทำไม่ได้ เพราะกลัวเป็นการเปิดเวทีให้ฝ่ายค้านด่า เปิดหน้าให้ฝ่ายค้านชก ข้อเสนอดีๆ จากฝ่ายค้านบางคน จากนักวิชาการ

บางกลุ่มจึงถูกมองข้าม 

แม้แต่เรื่องการอุดช่องโหว่ของมาตรการเยียวยา 5,000 บาท รวมถึงเงินเยียวยาเกษตรกร ซึ่งบางข้อเสนอก็น่าสนใจ

สถานการณ์แบบนี้จะยังคงอยู่ต่อไป และน่าจะหนักหน่วงขึ้นช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญปักษ์หลังของเดือนนี้ ยิ่งหากไม่มีการระบาด คลื่นลูกที่ 2” อาจจะมีม็อบย่อยๆ ตามมา รอจังหวะขยายวงเป็นม็อบใหญ่

ขณะที่ในอนาคตอันใกล้ นักวิชาการบางท่าน อย่างเช่น ดร.ถวิลวดี บุรีกุล จากสถาบันพระปกเกล้า ได้ออกมาเตือนปัญหาการเมืองเรื่องวัคซีน ซึ่งขณะนี้คณะวิจัยชั้นนำจากหลายประเทศกำลังเร่ง (แข่ง) ทดลองและพัฒนากันอย่างดุเดือด หากประเทศไหนผลิตวัคซีนออกมาได้ก่อน อาจกลายเป็นเงื่อนไขสุมไฟความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาอีก สมมติถ้าจีนผลิตวัคซีนได้ก่อน จะส่งให้สหรัฐหรือไม่ เพราะการเมืองระดับชาติของสหรัฐก็เปิดฉากถล่มจีนไม่เว้นแต่ละวัน

ส่วนในระดับประเทศ ลองตั้งสมมติฐานว่าถ้าไทยได้วัคซีนมาหมื่นโดส หรือแสนโดส จะมีกระบวนการกระจายอย่างไร ใครควรได้รับวัคซีนก่อน คนชรา หรือเด็ก หรือหมอ พยาบาล และข้าราชการที่เป็นแนวหน้า การตัดสินใจบนบรรยากาศความขัดแย้งที่คุกรุ่นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย (ไม่ต่างอะไรกับการจ่ายเยียวยา) และหนีไม่พ้นที่จะถูกหยิบไปขยายผลเพื่อขยายแผลขัดแย้งกันอีกระลอกหนึ่ง

ส่วนจะร้ายแรงกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...