เศรษฐกิจหลังโควิดที่คนไทยอยากเห็น
ผมเขียนบทความนี้เมื่อวันพุธที่ 13 พ.ค. เป็นวันที่มีข่าวดี คือตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้ทุกคนในประเทศสบายใจ หลังการเดินทางนาน 4 เดือนเต็มตั้งแต่เราพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศเมื่อกลางเดือน ม.ค.
ความสำเร็จนี้ อย่างที่ผมเขียนในบทความครั้งก่อน ต้องยกให้กับ 1.ความสามารถของระบบสาธารณสุขของเรา โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่ทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่ 2.การทำหน้าที่ของประชาชนหรือพลเมืองที่ให้ความร่วมมือเต็มที่กับมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้เป็นรายวัน ที่ยอมหยุดงานไม่มีรายได้เพื่อให้มาตรการของภาครัฐประสบความสำเร็จ ถือเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ และ 3.ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในสังคมที่ช่วยเหลือกันยามทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน สิ่งของ อาหาร ทำให้ผลกระทบของวิกฤติต่อคนที่อ่อนแอในสังคมผ่อนคลายลง
ประเด็นสุดท้ายนี้สะท้อนความเข้มแข็งของสังคมไทย เป็นคุณภาพที่เด่นและหายากที่คนในสังคม ช่วยเหลือกันในยามลำบาก เป็นดีเอ็นเอของคนไทยที่คนส่วนใหญ่มี และในวิกฤติครั้งนี้คุณภาพและสมรรถนะดังกล่าวก็ถูกแสดงออกให้เห็นโดยประชาชนเอง ไม่มีการจัดตั้งหรือชี้นำจากภาครัฐ คือมาจากใจ
เราเห็นบริษัททุกระดับยื่นมือช่วยเหลือสังคมตามความถนัดและพลังที่มี เราเห็นพลเมืองช่วยเหลือกันในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาค ตั้งโรงทาน แจกอาหาร จ่ายเงินล่วงหน้าให้ร้านอาหารทำอาหารให้คนไม่มีเงินกินฟรี
เราเห็นบทบาทของพระสงฆ์จัดตั้งโรงทานตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช 914 แห่งทั่วประเทศ ทำให้แต่ละวัน โรงทานเหล่านี้สามารถประทังความหิวโหยของผู้ที่อดยากให้มีอาหารทานมากกว่า 274,000 คนต่อวัน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัดในการเป็นเสาหลักให้กับชุมชน ล่าสุดคือตู้ปันสุข คิดทำกันเองโดยประชาชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงน้ำใจที่คนไทยพร้อมแบ่งปันกันยามทุกข์ยาก เป็นความเข้มแข็งของสังคมอย่างแท้จริง
แต่ในอีกด้าน ในสังคมที่เข้มแข็งนี้เราก็เห็นความอ่อนแอ ซึ่งชัดเจนจากวิกฤติคราวนี้เช่นกัน คือมีคนจำนวนกว่า 20 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของคนในประเทศที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างที่ควรเมื่อไม่มีรายได้ เพราะไม่มีเงินออม ต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่มีระบบที่จะเป็นหลังพิง หรือ safety net ให้ในยามที่ไม่มีรายได้ ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่ประเทศมีพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ ล่าสุด จำนวนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีมากกว่า 10 ล้านคน ถ้าใช้ตัวเลขของธนาคารโลก
นี่คือความอ่อนแอด้านการกระจายรายได้และความเป็นอยู่ที่สังคมไทยมี เกิดขึ้นขนานไปใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่คนในสังคมมีต่อกัน
ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจไทยจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีความหมายหลังโควิด-19 เป็นนิวนอร์มอล ประเทศต้องเดินออกจากสังคมปัจจุบันไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า เศรษฐกิจหลังโควิด-19 ต้องเป็นเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการให้โอกาสคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้ความสามารถในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่มีมากขึ้น นำไปสู่มาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ที่จะทำให้ชีวิตของคนในประเทศมีความมั่นคง เข้มแข็ง และสามารถตั้งรับแรงกระทบจากภายนอกได้ดีกว่าปัจจุบัน
กล่าวคือในเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมมากกว่าเดิมในกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ นี่คือเรื่องของโอกาส ได้ประโยชน์มากกว่าเดิมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ นี่คือเรื่องการกระจายรายได้ และได้รับการดูแลดีขึ้นกว่าเดิมในฐานะพลเมืองจากนโยบายของรัฐ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นและจะมาจากความต้องการของคนในประเทศเองที่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทุกคนอยากเห็นประเทศเดินออกจากความอ่อนแอเหล่านี้
ในทางเศรษฐศาสตร์ ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำของเรา ได้มาถึงจุดที่ความเหลื่อมล้ำได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และบางปีก็ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่จำนวนคนมากกว่า 20 ล้านคนที่พึ่งตัวเองไม่ได้อย่างที่ควร ที่วิกฤติคราวนี้แสดงให้เห็นก็ชี้ชัดเจนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้สร้างอยู่บนฐานของสังคมหรือพลเมืองที่เข้มแข็ง
และถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจยังเป็นตามรูปแบบนี้ต่อไป ประเทศไทยก็จะโตเป็นสังคมซ้อนสังคม คือสังคมส่วนบนที่มีส่วนร่วมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจ 4.0 กับสังคมส่วนล่างที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการการเติบโตแต่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีรายได้จากการทำงานเป็นลูกจ้าง ค้าขายรายวันหรือประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองอย่างที่เห็น
สังคมไทยจะมีช่องว่างมหาศาลระหว่างคน 2 กลุ่มนี้เหมือนอยู่กันคนละประเทศ การกระจายรายได้จะยิ่งแย่ลง และความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น
ที่สำคัญ เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ กำลังซื้อภายในประเทศก็ไม่มี ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต้องพึ่งการใช้จ่ายจากภาครัฐและกำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา หยุดเติบโต เศรษฐกิจประเทศเราก็ถูกกระทบรุนแรงอย่างที่เห็น กดดันให้ภาครัฐต้องมีบทบาทมากขึ้นในการใช้จ่ายเพื่อประคองเศรษฐกิจโดยเอาเงินในอนาคตมาใช้นั้นก็คือการก่อหนี้
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ต้องเป็นเศรษฐกิจที่เดินออกจากความอ่อนแอเหล่านี้ ไปสู่เศรษฐกิจที่ดีกว่าอย่างน้อยใน 3 เรื่อง 1.เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้มากขึ้นและฟิต หรือไปได้กับนิวนอร์มอลของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 เพื่อให้เราสามารถแข่งขันได้ 2.เป็นเศรษฐกิจที่ให้โอกาสกับคนในประเทศมากกว่าเดิม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.เป็นเศรษฐกิจที่มีฐานเข้มแข็งที่จะเป็นหลังพิง หรือ Safty net ให้กับคนส่วนใหญ่ในยามที่ประเทศมีวิกฤติ หรือมีปัญหารุนแรง
นี่คือความเข้มแข็งที่ต้องมี ความเข้มแข็งนี้บวกกับจิตใจของคนในสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันจะทำให้ประเทศไทยยิ่งน่าอยู่ คนในประเทศภูมิใจ เป็นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่คนไทยทุกคนอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้น